บีกริมลั่น พร้อมนำเข้า LNG ล็อตแรก 2.5 แสนตัน ธ.ค. 63

บีกริมรอรัฐเคาะนำเข้า LNG คาดล็อตแรก 2.5 แสนตัน ธ.ค. 2563 ชี้รัฐควรเปิดเสรีเช่นเดียวกับเวียดนาม พร้อมเร่งรัดไฟเขียววีซ่านักลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ ลั่นปี 2564 เดินหน้าลงทุนในประเทศ-ต่างประเทศ ตามเป้าหมายบริษัท

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานกลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ว่า บีกริมมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมมาโดยตลอด ทั้งการจัดตั้ง บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด โดยเบื้องต้นแผนการนำเข้า LNG ระยะเเรกภายในเดือน ธ.ค.2563 ปริมาณ 2.5 แสนตันต่อปี ที่จะมีโรงไฟฟ้าใหม่ 7 โครงการ กำลังการผลิต 980 เมกะวัตต์ จึงจะสามารถเพิ่มปริมาณนำเข้าเป็น 6.5 แสนตันต่อปีระยะถัดไป

ทั้งนี้ รูปแบบ การนำเข้า LNG ปริมาณ 2.5 แสนตันนั้น จะเป็นการจัดซื้อแบบตลาดจร พร้อมทั้งยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อสัญญาการซื้อขายก๊าซ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และจะพิจารณารูปแบบการต่อสัญญาระยะยาว 10 ปี ในอนาคตต่อไป

โดยบริษัทพร้อมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หากบริษัทนำเข้า LNG ราคาต่ำเข้ามาก็จะส่งต่อผลประโยชน์ไปยังลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมของบริษัท และยิ่งส่งผลดีต่อสินค้าของไทยในการส่งออกสามารถแข่งขันได้ และราคาค่าไฟถูกลง

“ผมมองว่านโยบาย LNG รัฐบาลควรเปิดเสรีการนำเข้า เหมือนกับเวียดนาม ซึ่ง ปตท.เป็นองค์กรที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ส่วนแก๊ส ปตท. ที่มีแหล่งอ่าวไทยนั้นมองว่าสามารถเก็บได้ แผนลงทุน LNG เราพร้อมอยู่แล้วหากรัฐไฟเขียว เพราะที่สุดแล้วผลประโยชน์สูงสุดจะทำให้ค่าครองชีพประชาชนลดลง เพราะค่าไฟฟ้าถูกลง”

นอกจากนี้ ยังมองว่าอยากให้รัฐบาลเปิดให้วีซ่าพิเศษ เพื่อให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อเร่งรัดกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ส่วนนโยบายที่รัฐบาลขอให้ผลักดัน สนับสนุนการจ้างงานนั้นในส่วนของบีกริมไม่มีนโยบายปลดพนักงาน มีทั้งสวัสดิการและโบนัสเต็มที่

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า แผนการลงทุนต่างประเทศในปี 64 เบื้องต้น จะมีการลงทุนโรงไฟฟ้ารวม 3,400-3,700 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภท LNG กำลังการผลิต 3,000 เมกะวัตต์ ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม

ส่วนในประเทศจะมุ่งเน้นซื้อขายโรงไฟฟ้าประเภท SPP จำนวน 700 เมกะวัตต์ ที่ประเทศไทยและมาเลเซียที่เจรจาสำเร็จไปเเล้ว คาดว่าจะทำให้ผลประกอบการปีหน้า 2564 เติบโตได้มากกว่าปีนี้ 2563 แน่นอน

ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังคงรักษาระดับความแข็งแกร่งทางการเงิน โดยมีเงินสดในมือประมาณ 19,000 ล้านบาท และกระแสเงินสดจากการดําเนินงานเพื่อการลงทุนโครงการต่าง ๆ และรองรับการเติบโตในอนาคต
อย่างไรก็ดีบริษัทยังเดินหน้าศึกษาการลงทุนโครงการพลังงานใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าให้เป็นไปตามเป้าหมาย 7,200 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมายของบริษัทที่วางไว้อีกด้วย