เอกชนเสนอเปิดสภาฯ-เจรจาม็อบ หวั่นโควิดระลอก 2 ทุบดัชนีความเชื่อมั่นร่วง

ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ก.ย. ปรับขึ้นอยู่ที่ระดับ 85.2 ยังหวั่นโควิด-19 ระลอก 2 ทำความเชื่อมั่นอีก 3 เดือนหด เสนอรัฐเปิดเวทีสภาสมัยวิสามัญถกกลุ่มผู้ชุมนุม หาทางออกด้านการเมือง ด้านรถยอดยอดขายฉลุย ขณะที่กลุ่มเหล็กโวนโยบาย Made in Thailand ทำเหล็กโต

วันที่ 19 ตุลาคม 2563 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 85.2 จากเดือน ส.ค. อยู่ที่ระดับ 84 เป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ การคลายล็อคดาวน์ทำให้กิจกรรมธุรกิจดำเนินไปได้ ภาคการส่งออกและการขนส่งระหว่างประเทศมีสัญญาณดีขึ้น การควบคุมโควิด-19 ทำได้ดี

อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยลบ จากการปิดด่านชายแดนที่ติดกับเมียนมาจึงส่งผลกระทบต่อการส่งออก และปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว

ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 93.3 จาก 94.5 ในเดือน ส.ค. เพราะกังวลถึงการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านจึงต้องมีการล็อคดาวน์อีกครั้ง การสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ ในเดือน ต.ค. นี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจและกำลังซื้อในประเทศ รวมถึงปัญหาการเมืองในประเทศ ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย เงินกู้มากขึ้น

“ดัชนีฯ ที่ลดลงเพราะความช่วยเหลือภาครัฐจะหมดลง แต่รัฐก็มีมาตรการอื่นๆ มาเติม เช่น โคงการคนละครึ่ง เที่ยวด้วยกัน ส่วนการชุมนุมทางการเมือง 3-4 วันที่ผ่ามา ก็กังวลเพราะมันกระจายหลายจุด ทุกฝ่ายต้องช่วยแก้ปัญหาว่าจะทำยังไง ควรเปิดสภาสมัยวิสามัญ ให้เขาได้มีเวทีออกมาชี้แจง อย่างการแก้รัฐธรรมนูญอันไหนเห็นร่วมกันก็แก้ไปก่อน แต่ที่ห่วงตอนนี้คือมือที่ 3”

นายวิรัตน์ เอื้อนนฤมิต รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอต่อภาครัฐ เอกชนต้องการให้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ผ่านโครงการลงทุนภาครัฐทั้งในและภูมิภาค ออกมาตรการเพิ่มเติมช่วย SMEs หลังใกล้สิ้นสุดมาตรการเดิม และรัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศ และจะเห็นได้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายใหญ่นั้นกลับลดลง เพราะกังวลการระบาดโควิด-19 รอบ 2 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แอร์ โรงกลั่นน้ำมัน

ทางด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เดือน ก.ย. มีจำนวนการผลิตอยู่ที่ 150,345 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. 28.22% มียอดขาย 77,433 คัน เพิ่มขึ้น 12.41% ขณะที่ 8 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2563) มีจำนวนทั้งสิ้น 963,066 คัน ลดลงจากปีที่แล้ว 38.76% จากเป้า 1,400,000 คันในปี 2563 ซึ่งหากไม่มีการระบาดของดควิดระลอก 2 คาดว่าต้องได้ตามเป้า

ขณะที่นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตามที่ได้ผลักดันนโยบาย “Made in Thailand” โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2563 ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการคลัง เรื่อง “กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ภาครัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนโดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 60% ของพัสดุที่จะใช้ตามบัญชีรายชื่อที่ขึ้นไว้กับ  ส.อ.ท. สำหรับงานก่อสร้างได้กำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อนโดยต้องไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมดในครั้งนั้น

เชื่อมั่นว่าการผลักดันนโยบาย Made in Thailand อย่างจริงจังซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจฐานชุมชน (Local Economy) ของรัฐบาล จะช่วยให้อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศฟื้นตัวและสามารถใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่ได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ใช้กำลังการผลิตเพียง 30% เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับการใช้กำลังการผลิตเหล็กเฉลี่ยของโลกในปี 2562 ที่ 78%

นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. ขอให้ภาครัฐพิจารณาให้โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ต่างๆ ส่งเสริมการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานและการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศ

ตารางดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย.