จ่อปิดจ็อบตั้ง “กองทุน FTA” ลุ้นชง ครม.โค้งสุดท้ายปี’63

โค้งสุดท้าย พาณิชย์เตรียมประชาพิจารณ์ตั้งกองทุนเอฟทีเอ 22 ต.ค.นี้ คาดสรุปเสนอ ครม.ได้ทันสิ้นปี 2563 หลังงบฯโครงการเงินช่วยเหลือเพื่อปรับตัวจากเอฟทีเอถูกตัดงบฯปี 2564 ผู้ขอช่วยเหลือกว่า 17 โครงการเคว้ง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยความคืบหน้าในการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าว่า ในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นี้ กรมจะเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนอีกครั้ง หลังจากที่ได้เริ่มเปิดรับฟังความเห็นไปแล้ว เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา

จากนั้นจะสรุป คณะทำงานพิจารณาแนวทางกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ภายในปลายปี 2563 และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณา เพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

“เดิมมีโครงการเงินช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยกรมการค้าต่างประเทศ และกองทุนหมุนเวียนโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งแต่ละปีจะมีการจัดสรรงบประมาณประจำปีมาช่วยเหลือในรูปแบบการนำไปจัดอบรมพัฒนาให้ความรู้เป็นหลัก

ซึ่งตาม พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 หากจะมีให้จัดตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา จำเป็นต้องยกร่างกฎหมายรองรับและต้องศึกษาแนวทางว่ากองทุนจะมีรูปแบบใดวงเงินเท่าไร มีที่มาของเงินกองทุนจากแหล่งใด ซึ่งจากการเปิดรับฟังความเห็น ส่วนใหญ่ต้องการให้มีกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในระยะยาวเป็นสิ่งสำคัญ

เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีเอฟทีเอ 13 ฉบับ กับ18 ประเทศ ต้องตั้งกองทุน แต่ทำอย่างไรจะต้องไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกองทุนที่มีกว่า100 กองทุนในปัจจุบัน ทางกรมบัญชีกลางเสนอให้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับกองทุนที่มีอยู่สร้างความร่วมมือกัน”

ขณะที่นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า งบประมาณในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเอฟทีเอ ปี 2564 ที่เสนอขอไป15 ล้านบาทนั้น ไม่ได้ถูกพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ส่งผลให้ไม่มีงบประมาณ โดยขณะนี้มีจำนวนโครงการที่อยู่ระหว่างยื่นขอความช่วยเหลือประมาณ 17 โครงการซึ่งการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีได้ในระยะยาว

สำหรับปีงบประมาณ 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเงินช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า อนุมัติให้ความช่วยเหลือ 5 โครงการ จากที่ขอเข้ามา 20 โครงการ วงเงิน 15.99 ล้านบาท จากงบประมาณที่ได้รับมา 20 ล้านบาท

สำหรับโครงการที่อนุมัติเพื่อให้ความช่วยเหลือ อาทิ 1.โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์นมและช่องทางการจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ของชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และตะวันตก จำกัด และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อลดผลกระทบจาก FTA ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ 2.โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตโคเนื้อ สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลางโพนยางคำ จำกัด

สำหรับการแข่งขันในเขตการค้าเสรี (FTA) และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 3.โครงการศึกษาช่องทางตลาดเนื้อโคประเทศกัมพูชา และการพัฒนาตัดแต่งเนื้อ แปรรูปเนื้อโค 4.โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของตลาดการค้าไทย-จีน เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปมะพร้าวด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 5.โครงการพัฒนาศักยภาพการทอผ้าด้วยกี่กระตุกยกดอก 12 ตะกอ จังหวัดร้อยเอ็ด