ซี.พี.รวมเทสโก้มาเลย์ฉลุยก่อน กขค.ดึงไกด์ไลน์เขียนเงื่อนไข

เทสโก้ โลตัส-CP

ดีลควบรวม ซี.พี.-เทสโก้ คาดผ่านบอร์ดแข่งขันมาเลเซีย ส่วนไทยต้องลุ้นต่อ 2 พ.ย. 2563 ประธานบอร์ดเตรียมแจ้งผู้ยื่นคำขอ ต่อเวลาเป็น 105 วัน แง้มเงื่อนไข วางแนวปฏิบัติดูแลซัพพลายเออร์-จำกัดการขยายสาขา ไม่เข้าเกณฑ์แฟรนไชส์

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ทางคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มีวาระพิจารณาการรวมธุรกิจ ตามคำขอควบรวมกิจการของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.)ที่ซื้อหุ้นบริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) ซึ่งแม้ว่าจะเลยกำหนดที่ต้องพิจารณาให้จบสิ้นภายใน 90 วัน หรือภายใน 30 ตุลาคม 2563 แต่ตามกฎหมาย พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2560 ให้สามารถใช้เวลาพิจารณาเพิ่มได้อีก 15 วัน เป็น 90+15 ได้อัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้จะต้องทำเรื่องแจ้งผู้ยื่นให้ทราบ

แหล่งข่าวกล่าวว่า เนื่องจากการซื้อหุ้นดังกล่าวจะทำให้บริษัทเครือ ซี.พี.ได้สิทธิในบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีก ภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในไทย รวมทั้งซื้อหุ้นบริษัท Tesco Stores (Malaysia) Sdn.Bhd. ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco ในประเทศมาเลเซีย ดังนั้นทางบริษัทผู้ซื้อจึงต้องได้รับการอนุญาตจากทั้งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของไทย และ Ministry of Domestic Trade and Consumers Affairs ของประเทศมาเลเซียด้วย บอร์ดแข่งขันของไทยจะพิจารณาอนุญาตควบรวมได้ก็จะได้เฉพาะส่วนของเทสโก้ในไทย ส่วนของมาเลเซียก็ขึ้นอยู่กับบอร์ดแข่งขันมาเลเซีย

“เบื้องต้นตามกฎหมายแข่งขันของมาเลเซียจะไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ ฉะนั้น เท่ากับว่าดีลนี้ในมาเลเซียน่าจะควบรวมได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเพียงแค่แจ้งให้ทราบ แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายแข่งขันในมาเลเซียจะเน้นเรื่องการดูแลพฤติกรรมการแข่งขันหลังจากควบรวมแล้ว มีอำนาจเหนือตลาด จะใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างเป็นธรรมหรือไม่”

ส่วนกฎหมายแข่งขันทางการค้าของไทย ถามว่ามีโอกาสที่จะอนุญาตให้ควบรวมได้หรือไม่ก็เป็นไปได้ เพราะมีผู้ประกอบการในตลาดหลายรายจึงไม่เข้าข่ายการผูกขาดทั้งในกลุ่มคอนวีเนี่ยนสโตร์ และกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งดีลนี้เข้าเกณฑ์การมีอำนาจเหนือตลาด การอนุญาตให้ควบรวมกิจการจำเป็นต้องมีการกำหนดเงื่อนไข เพื่อป้องกันใช้อำนาจเหนือตลาดสร้างการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจ เช่น ซัพพลายเออร์และค้าปลีกรายอื่น

เบื้องต้นแนวทางการดูแลซัพพลายเออร์ให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ต้องวางเงื่อนไขว่าบริษัทจะต้องซื้อสินค้าจากซัพพลายทุกรายอย่างเป็นธรรมอย่างไรเพื่อไม่ปิดกั้นรายอื่น รวมถึงการวางมาตรการดูแลเรื่องการขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกดังกล่าวหลังจากควบรวมแล้ว โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะต้องแอปพลายเงื่อนไขจากแนวปฏิบัติธุรกิจทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (ไกด์ไลน์) ธุรกิจค้าปลีก หรือไกด์ไลน์ธุรกิจแฟรนไชส์มาใช้หรือไม่ และหากไม่ปฏิบัติตามนี้ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย เป็นต้น