เอกชน จับตา เลือกตั้งสหรัฐ ชี้มีผลต่อนโยบายการค้า-โควิดยังกระทบอยู่

เอกชน จับตา เลือกตั้งสหรัฐ

กกร. เผยเอกชนไทยยังจับตาเลือกตั้งสหรัฐ ชี้มีผลต่อนโยบายการค้า ขณะที่ โควิด-19 ยังกระทบโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม วอนรัฐเร่งช่วยเหลือ

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เอกชนต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากส่งผลต่อนโยบายการค้าและการลงทุนที่เปลี่ยนไปซึ่งมีผลทั้งบวกและลบ

โดยหากนายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ชนะการเลือกตั้งประธานธิบดีสหรัฐฯ และพรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา อาจจะส่งผลให้นโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ กับคู่ค้ามีแนวโน้มกลับมาผ่อนคลายมากขึ้น

“โดยผลของการเลือกตั้งสหรัฐครั้งนี้หากผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคเดโมแครต จะมีผลต่อนโยบายการค้า มีเสรีมากขึ้น และแนวโน้มที่จะเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงหากผู้ชนะมาจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งมีนโยบายสหรัฐต้องมาก่อนเชื่อว่านโยบายการค้ายัง คงเหมือนเดิมซึ่งผู้ประกอบการไทยจำเป็นจะต้องพัฒนาสินค้าตัวเองมากขึ้นเพื่อแข่งขันในตลาดรวมถึงการหาตลาดใหม่ๆเพื่อทดแทนตลาดสหรัฐ ขณะที่ด้านการลงทุนยังมองว่าอาเซียนยังเป็น กลุ่มประเทศเป้าหมายที่หลายประเทศให้ความสนใจอยู่”

ขณะที่ ปัญหาโควิด-19 กกร.ยังให้ความกังวลการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบ 2 ในหลายประเทศโดยเฉพาะยุโรป ซึ่งประกาศล็อกดาวน์ไปมีผลกระทบต่อกิจกรรมภายนอกของผู้บริโภค แม้ด้านการผลิตสินค้าจะไม่กระทบ แต่คาดว่าจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมแผ่วลง เบื้องต้นคาดว่าจะกระทบ GDP ไทยในไตรมาสที่ 4 ราว 0.37-0.5% เนื่องจากคาดว่าจะมีผลกระทบต่อความต้องการสินค้าส่งออก

Advertisment

ส่วนประเทศไทยหากสามารถควบคุมโควิด-19 ได้ไม่เกิดระบาดรอบ 2  ประกอบกับมีเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี เช่น มาตรการคนละครึ่ง และมาตรการช้อปดีมีคืน เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ที่ประชุม กกร. มองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 น่าจะฟื้นตัวได้ต่อไป

ทำให้ทั้งปี 2563 กกร.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวในกรอบ -9.0% ถึง -7.0% ขณะที่คาดว่าการส่งออกจะหดตัวในกรอบ -10.0% ถึง -8.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบ -1.5% ถึง -1.0%

นอกจากนี้ กกร.เห็นว่าข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ FTA ในกรอกใหม่และปัจจุบันยังอยู่ในการเตรียมการ เช่น FTA Thai-UK, FTA Thai-EU, CPTPP เป็นต้น ซึ่ง กกร.ได้พิจารณาแล้วว่ามีหลายข้อบทที่เกี่ยวเนื่องกันใน FTA เกือบทุกกรอบ ทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี ได้แก่ UPOV (การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่), CL (Compulsory Licensing), แรงงาน และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

โดย กกร.จะเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐที่มีกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่างๆ กับ กกร. เพื่อให้มีการเตรียมตัวครอบคุมในทุกภาคส่วน โดยอยากให้มีการจัดตั้งโดยเร็วเพื่อไม่ให้ไทยเสียโอกาสในเวทีการค้าโลก

Advertisment

นายกลินท์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจโรงแรมที่ได้เสนอไปยังภาครัฐก่อนหน้านี้ เรื่องการตั้งกองทุนเพื่อซื้อโรงแรมที่ยังมีศักยภาพตามความเหมาะสม จากผลกระทบโควิด-19  ล่าสุด กกร.ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวโดยละเอียด กรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้รัฐบาลไทยมีการออกมาตรการปิดเมืองปิดประเทศหรือมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อการเดินทางของนักธุรกิจชาวต่างชาติ

รวมทั้งวิกฤตินี้ ยังสะท้อนถึงปัญหาวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของกลุ่มบุคคลดังกล่าวอีกด้วย

ทั้งนี้ แม้รัฐบาลไทยได้แก้ไขปัญหาบางส่วนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นายจ้างและกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาทิ การลดทอนเอกสารและลดขั้นตอนการดำเนินการ ตามประกาศกรมการจัดหางาน  ลงนาม ณ วันที่ 30 กันยายน 2563

อย่างไรก็ดี กกร.คาดว่าจะส่งข้อเสนอเพิ่มเติมไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของนักธุรกิจชาวต่างชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจ คือ 1. เสนอให้สามารถยื่นขอเปลี่ยนประเภทวีซ่าจาก Non-Immigrant O Visa เป็น Non-Immigrant B Visa ภายในประเทศไทยได้ เนื่องจากชาวต่างด้าวจำเป็นต้องเดินทางกลับไปยังประเทศต้นทางของตนเพื่อเปลี่ยนประเภทวีซ่าดังกล่าว

2. เสนอให้แรงงานต่างด้าวทักษะสูงสามารถอยู่ในประเทศไทยต่อได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุหรือถูกยกเลิกไป เพื่อหางานใหม่ 3 เสนอให้ยกเว้นการรายงานตัวทุก 90 วันแก่แรงงานต่างด้าวทักษะสูง โดยให้แจ้งเฉพาะกรณีที่มีการย้ายที่อยู่ถาวร

กกร. ขอให้ภาครัฐเร่งรัดการจ่ายเงินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุกโครงการภายใน 30 วัน หลังจากการตรวจรับเรียบร้อยเพื่อช่วยในการเสริมสภาพคล่องทางการเงินภาคเอกชน และทางภาคเอกชนขนาดใหญ่กว่า 100 บริษัทได้ร่วมกันชำระหนี้ภายใน 30 วันแล้ว