จีดีพีเกษตรทรุด ปี’63 พิษโควิด-ภัยแล้ง หดตัวติดลบ 3.4% 

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจ (จีดีพี) การเกษตรตลอดปี 2563 คาดว่าจะหดตัวอยู่ในช่วงติดลบ 3.4 ถึง ลบ2.4% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยสาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร มีทิศทางปรับตัวลดลงตามการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายชนิดที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากหลายพื้นที่ประสบภัยแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตทางการเกษตร

ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2563 มีฝนตกเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งกระทรวงเกษตรฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรได้อย่างทันท่วงที ส่วนสาขาประมง คาดว่าจะปรับตัวลดลง ทั้งการทำประมงทะเลและประมงน้ำจืด เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเลี้ยง ในขณะที่สาขาปศุสัตว์และสาขาป่าไม้ คาดว่าจะขยายตัวได้ตามความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

“การคาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 สศก.ยังมีปัจจัยและสถานการณ์สำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ การระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ โดยสถานการณ์การระบาดที่ยังคงยืดเยื้อและความเสี่ยงของการกลับมาระบาดในรอบที่ 2 และความเสี่ยงจากความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งในด้านการค้าและความมั่นคงที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการลงทุน ” นายฉันทานนท์ กล่าว

สำหรับการประเมินภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3/2563 พบว่าปรับตัวลดลง 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยสาขาพืช สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ หดตัวลง ขณะที่สาขาปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้ดี ซึ่งสาขาพืช ยังคงปรับตัวลดลงอยู่ที่ 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน มังคุด และเงาะ สาขาบริการทางการเกษตร ลดลงอยู่ที่ 0.2% 

สาขาประมง ลดลงอยู่ที่ 0.9% ส่วนสาขาป่าไม้ลดลงอยู่ที่ 1% ส่วนสาขาปศุสัตว์ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องอยู่ที่ 2.4% จากการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นและจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกเนื้อไก่ที่สำคัญของไทย