กพช. เคาะเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน 150 MW คาดไฟฟ้าเข้าระบบปี’66

กพช. เดินหน้าขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มีเป้าหมาย 150 เมกะวัตต์ (MW) และเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในปี 2564 วงเงินรวม 6,500 ล้านบาท โดยเพิ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก ด้วย

วันนี้ (16 พ.ย. 63) นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้พิจารณาวาระและเห็นชอบนโยบายสำคัญ ดังนี้

สุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์
สุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์

1.เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน ตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 โดยเห็นชอบโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มีเป้าหมาย 150 เมกะวัตต์ (ชีวมวล 75 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์) โดยใช้ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย ≤ 25%) แบ่งเป็นชีวมวล มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ และก๊าซชีวภาพ ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ

ทั้งนี้ มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาฯ ให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) แบบแข่งขันทางด้านราคา โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้เสนอโครงการ สำหรับการแบ่งปันผลประโยชน์

อาทิ การให้หุ้นบุริมสิทธิ ร้อยละ 10 ให้กับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า การให้ผลประโยชน์อื่น ๆ ให้โรงไฟฟ้าและชุมชนทำความตกลงกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เช่น ด้านการสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา

2.เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2564 ในวงเงิน 6,500 ล้านบาท ตามมติคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญฯ และการจัดสรรเงินตามกลุ่มงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

โดยแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน กรอบวงเงิน 6,305 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) กลุ่มงานตามกฎหมาย จำนวน 200 ล้านบาท 2) กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน จำนวน 500 ล้านบาท 3) กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ จำนวน 355 ล้านบาท 4) กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร จำนวน 200 ล้านบาท

5) กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร จำนวน 450 ล้านบาท 6) กลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมขนาดเล็ก (SMEs) อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษ จำนวน 2,200 ล้านบาท 7) กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 2,400 ล้านบาท และแผนบริหารจัดการ ส.กทอ. จำนวน 195 ล้านบาท