บีโอไอปลดล็อก “สมาร์ทซิตี้” ดัน “บ้านฉาง” เมืองต้นแบบพัฒนา 5G

ผู้พัฒนาเมืองอัจฉริยะ smart city เฮ BOI ผ่อนเกณฑ์ 7 ด้านเหลือ 2 ด้าน รับสิทธิประโยชน์ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้สูงสุด 8 ปี แถมอยู่ใน EEC เพิ่มลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ของอัตราปกติอีก 5 ปี ชู “บ้านฉาง” เมืองต้นแบบพัฒนา 5G สู่เมืองอัจฉริยะ เตรียมชงบอร์ด EEC เร็ว ๆ นี้

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มีมติเห็นชอบให้ปรับเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนเมืองอัจฉริยะ (smart city) ใหม่ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น ในส่วนของประเภทกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ กับประเภทกิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ BOI ได้ “ผ่อนปรน” ให้ผู้ประกอบการที่จะยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี หากผู้ขอรับการส่งเสริมสามารถลงทุนจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะ 2 ด้าน (1 ใน 2 จะต้องเป็น smart environment) จากเดิมที่กำหนดไว้ให้ถึง 7 ด้าน

และหากตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC ก็จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 50% ของอัตราปกติเพิ่มอีกเป็นระยะเวลา 5 ปี ภายหลังการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง

ทั้งนี้ บริการระบบอัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน ประกอบไปด้วย อัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม (smart environment), ขนส่งอัจฉริยะ (smart mobility), พลเมืองอัจฉริยะ (smart people), การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (smart living), เศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy), การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (smart governance) และพลังงานอัจฉริยะ (smart energy)

“เดิมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งมี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เคยกำหนดนโยบายไว้ว่า smart city จะต้องมีด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานและให้บวกอีก 6 ระบบอัจฉริยะ ถ้าทำครบก็ได้รับการส่งเสริมเต็มที่ไปเลย แต่ของใหม่รอบใหม่นี้จะเป็น 1 ด้านสิ่งแวดล้อม+1 smart ด้านใดก็ได้ หรือรวมแล้วเป็นขั้นต่ำ 2 smart ก็ได้สิทธิประโยชน์สูงสุดไปเลย ตรงนี้จะเป็นการเปิดการลงทุนได้ง่ายขึ้น และจะทำให้เกิดเมืองอัจฉริยะได้มากขึ้น เกิดการลงทุนในกิจการพัฒนาระบบมากขึ้น คนได้รับบริการก็จะได้รับแต่สิ่งที่ดี ๆ” นายนฤตม์กล่าว

อย่างไรก็ตาม การขอรับส่งเสริมการลงทุนกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาประกอบเพิ่มเติมอีก เช่น ต้องจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่พร้อมรองรับระบบอัจฉริยะด้าน
ต่าง ๆ อย่าง fiber optic, public WiFi เป็นต้น จากเดิมผู้ยื่นขอทำ smart city หากจะได้สิทธิประโยชน์สูงสุด 8 ปีจะต้องทำครบทั้ง 7 ด้านทั้งหมด แต่หากทำไม่ครบหรือทำตามเงื่อนไขได้ขั้นต่ำที่ 2 ด้าน จะได้รับการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลระยะเวลา 5 ปีเท่านั้น

บ้านฉางเมืองต้นแบบ

ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า ที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง มีแผนที่จะพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) จากการพิจารณาเบื้องต้นพบว่า บ้านฉางมีความเป็นไปได้ที่จะเป็น smart city แต่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการให้ครอบคลุม ซึ่งตามขั้นตอนแล้ว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะต้องยื่นเรื่องเสนอเข้ามายังคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อทำการรับรองตามเงื่อนไขของ smart city และรับมอบโลโก้ จากนั้นจึงค่อยไปยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการ smart city จาก BOI เพื่อพิจารณา

“หาก อ.บ้างฉาง ได้ประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5G ตามที่ EEC เสนอ สิทธิประโยชน์ที่ได้รับก็จะไม่ได้เพิ่มมากไปกว่านี้ เพราะสิทธิประโยชน์ smart city ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ถือว่าสูงสุดแล้ว โดยขณะนี้ในพื้นที่ EEC ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีศักยภาพและเตรียมผลักดันเป็น smart city เช่นกัน” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจหรืออยู่ในระหว่างการพัฒนาเมืองให้เป็น smart city ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ของกลุ่มอมตะ หรือโครงการ Amata Smart City, Smart City ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน, Smart City EEC, Smart City ภูเก็ต, นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอของกลุ่ม WHA และเดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ ที่จะอยู่ในประเภทกิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ เป็นต้น

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาพื้นที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เพื่อลงทุนด้านระบบสายส่ง เสา ท่อ สำหรับโครงข่าย 5G โดยใช้บ้านฉางเป็นต้นแบบ เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ตรงกลางระหว่างสนามบินอู่ตะเภากับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จากนั้นก็จะประกาศให้ “บ้านฉาง” เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 5G

นอกจากนี้จะมีการหารือกับ BOI เพื่อพิจารณาถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้เพิ่มเติม เช่น สิทธิประโยชน์พื้นที่, สิทธิประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ “บ้านฉาง” ไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) ซึ่งแผนดังกล่าวจะเสนอเข้าบอร์ด EEC ประมาณช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้

เอกชนขานรับ Smart City

นายแจ็คกี้ จาง ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวในฐานะที่อยู่ในกลุ่มประเภทกิจการพัฒนาระบบอัจฉริยะว่า เดลต้าฯมีแผนที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Smart City โดยการนำเอาโซลูชั่นเข้าไปบริหารจัดการในพื้นที่เหล่านี้ ขณะนี้โครงการดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการเบื้องต้น โดยเดลต้าฯมีความเชี่ยวชาญทางด้านระบบอิเล็กทรอนิกส์โซลูชั่นครบวงจร ซึ่งเทคโนโลยีล่าสุดก็คือการมุ่งไปสู่การพัฒนาระบบด้านพลังงาน เช่น สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ระบบเสาไฟเปิดปิดอัตโนมัติ เป็นต้น

ส่วนการยื่นขอสิทธิประโยชน์จากมาตรการทางภาษีกับ BOI นั้น จะต้องรอให้ทางพาร์ตเนอร์ผู้ร่วมโครงการคือ “กลุ่มอมตะ” เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งอมตะมีแผนทำ smart city ในนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว และอยู่ในพื้นที่ EEC

ด้าน นายกิตติพันธ์ จิตต์เป็นธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สวนอุตสาหกรรม 304 จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ในฐานะผู้พัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุน บริษัทมีแผนที่จะดำเนินโครงการ Smart City เช่นกัน โดยได้เริ่มทำการศึกษาแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยแผนที่วางไว้จะทำระบบอัจฉริยะให้ครบทั้ง 7 ด้าน

ปัจจุบันสวนอุตสาหกรรม 304 ได้นำเทคโนโลยีที่หลากหลายเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสวนอุตสาหกรรม ทำให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น อีกทั้งองค์กรส่งเสริมเรื่อง digital transformation ทั้งในส่วนบุคลากร การบริหารจัดการภายในสวนอุตสาหกรรม รวมถึงในการบริหารองค์กรด้วย

ทั้งนี้ Smart Industrial Park เต็มรูปแบบ คาดว่าจะเริ่มกับโครงการใหม่ของสวนอุตสาหกรรม 304 ปราจีนบุรี ในปี 2564 ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานของธุรกิจสวนอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมไปอีกขั้น ทำให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

“การเป็น smart city จะมีผลต่อการลงทุนบางส่วน เพราะการเลือกลงทุนในพื้นที่ใด ๆ มีปัจจัยมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งสวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะก็เป็นการบ่งบอกถึงมาตรฐานของสวนอุตสาหกรรม และทำให้การตัดสินใจเลือกง่ายขึ้น”

ขณะที่ นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมุ่งพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานอัจฉริยะ (smart energy) โดยจะเข้าหารือกับ BOI ในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจาก “บ้านปู” เคยมีโครงการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่ดำเนินการในพื้นที่ EEC และมีแผนการทำงานร่วมกับ DEPA และล่าสุดมีการพัฒนาเรือ e-Ferry เรือท่องเที่ยวไฟฟ้า ร่วมกับ สสทช. ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า บ้านปูพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของรัฐบาล

“บ้านปูกำลังจะพัฒนาไปสู่ผู้ให้บริการฟีดโซลูชั่นด้านสมาร์ท ล่าสุดโครงการเรือท่องเที่ยวไฟฟ้า 100% ทางทะเลลำแรกขนส่งระหว่างท่าเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต ไปถึงหมู่เกาะที่ จ.พังงา การพัฒนารถสามล้อไฟฟ้า Move mi ซึ่งจะเร่งเพิ่มจำนวนสถานีบริการในปี 2564 และการพัฒนาบริการเช่ารถฮ็อบคาร์ ซึ่งทั้งหมดจะไปเชื่อมต่อกับการทำชาร์จิ้งสเตชั่น ตามนโยบายมุ่งเน้นไปสู่การพัฒนาด้านสมาร์ทของบ้านปู” นางสมฤดีกล่าว