เอกชนไทยพร้อม ? ผลิตสินค้า “Made in RCEP”

ผ่านมา 1 เดือนนับจากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ครั้งที่ 4 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน และได้ลงนามความตกลง RCEP ร่วมกับอีก 14 ประเทศ (ยกเว้นอินเดีย) ด้วยความเชื่อมั่นว่า RCEP จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเวทีใหญ่สัมมนาประชาพิจารณ์ “เจาะลึกความตกลง RCEP และการเตรียมใช้ประโยชน์-ปรับตัว” โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานเข้าร่วมให้ความคิดเห็นเพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขันก่อนที่ความตกลงจะมีผลบังคับใช้ในกลางปี 2564

ลุ้น 9 ประเทศให้สัตยาบัน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระบวนการเตรียมบังคับใช้ความตกลง RCEP ขณะนี้ผู้นำประเทศสมาชิกมอบหมายให้เร่งดำเนินการตามกระบวนการภายในของแต่ละประเทศเพื่อให้สัตยาบัน ให้ความตกลงมีผลใช้บังคับโดยเร็ว

ทั้งนี้ ความตกลงจะมีผลใช้บังคับได้ก็ต่อเมื่ออาเซียน 6 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 3 ประเทศ จากทั้งหมด 15 ประเทศให้สัตยาบัน จากนั้น60 วัน จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

การดำเนินการของประเทศไทยขณะนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงนามเห็นชอบที่จะเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปอยู่ที่สำนักเลขาฯ ครม. หากผ่านการพิจารณาแล้วจะเสนอสู่ที่ประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้

ขณะเดียวกัน สมาชิกยังคงเปิดโอกาสให้ “อินเดีย” กลับมาเข้าร่วมความตกลง เพราะอินเดียมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มการเจรจาอาร์เซ็ปมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งอินเดียสามารถเข้าเจรจาได้ทันที ขณะที่สมาชิกใหม่ต้องรอหลังความตกลงบังคับใช้ไปแล้ว 18 เดือน

โรดโชว์เสริมการใช้ RCEP

สเต็ปต่อไป กรมจะจัดสัมมนาส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก RCEP สัญจร เริ่มที่ภาคเหนือ จ.พิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี และภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้มีโอกาสรับทราบข้อมูล และเตรียมเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จาก RCEP

เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า RCEP เป็นความตกลงที่ครอบคลุมตลาดที่มีประชากร 2,200 ล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มี GDP รวม 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท) หรือ 30% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวม 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 326 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 28% ของมูลค่าการค้าโลก

“เมื่อข้อตกลงบังคับใช้แล้วโอกาสที่ไทยจะได้รับ คือ การค้าระหว่างกันง่ายขึ้นมีการปรับพิธีการศุลกากรชัดเจน รวดเร็ว มีการคุ้มครองและอำนวยความสะดวกการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น เพื่อผู้ประกอบการไทยจะได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ควรเตรียมพร้อมและเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขัน ศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศ’

สินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ เช่น สินค้าประมง แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด น้ำมะพร้าว น้ำส้ม อาหารแปรรูป ผักผลไม้แปรรูป กระดาษ ส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เส้นใย เครื่องแต่งกาย รถจักรยานยนต์ เป็นต้น

เตรียมรับมือสินค้าทะลัก

ต่อความกังวลในกรณีเมื่อเปิดตลาดแล้วจะมีสินค้าไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นนั้น กรมอยู่ระหว่างเตรียมมาตรการเยียวยาผลกระทบ โดยการผลักดันการตั้ง “กองทุนเอฟทีเอ” ซึ่งรอข้อสรุปจากการหารือกับกรมบัญชีกลางว่าจะจัดตั้งกองทุนได้อย่างไร

พร้อมพัฒนาระบบติดตามดูแลระมัดระวังทางการค้า เพื่อดูแลสินค้านำเข้าที่จะทะลักเข้ามาหลังจากการเปิดตลาดลดภาษีและกระทบผู้ประกอบการภายในประเทศ ซึ่งประเด็นนี้ทางกรมการค้าต่างประเทศสามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น(เซฟการ์ด) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (AD/CVD) เป็นต้น

เตรียม Made in RCEP

นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ) กล่าวว่า หลังจาก RCEP มีผลบังคับใช้ในอนาคตจะเกิดสินค้า made in RCEP ขึ้นมา

ทำให้การส่งออกสินค้าในประเทศสมาชิกได้ง่ายและสะดวก ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อใช้ประโยชน์ คือ เรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (rules of origin : ROO) และแหล่งกำเนิดสินค้าแบบสะสม (cumulative rules of origin : CRO) ของอาเซียน

ซึ่งการเปิดตลาดสินค้าใน RCEP จะมีกรอบระยะเวลาแตกต่างกัน แบ่งเป็น 1) สินค้ากลุ่มสัดส่วน 80% ของสินค้าที่ตกลงกัน แบ่งเป็น กลุ่มแรกสินค้าสัดส่วน 65% จะลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ในปีแรก และอีก 15% จะทยอยลดภาษีเป็น 0% ใน 10-15 ปี 2) กลุ่มสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวสูง อีก 20% จะไม่มีการลดภาษี ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง

“ไม่ใช่ว่าไทยจะได้ประโยชน์จากข้อตกลง แต่ประเทศสมาชิกก็มีโอกาสส่งออกสินค้ามาไทยเช่นกัน สินค้าที่น่ากลัวจะไหลมาที่ไทย เช่น สินค้าจีน และเวียดนาม เนื่องจากราคาถูก สินค้าจากเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่มีต้นทุนถูกและใช้เทคโนโลยีระดับสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือกลุ่มบริการด้านสุขภาพ โลจิสติกส์ ของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งเริ่มเข้ามาลงทุนที่ไทยแล้ว ไทยต้องพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้มากขึ้นเพื่อให้แข่งขันได้ ภาครัฐก็ต้องพร้อมสนับสนุนเอกชนไทยด้วย”

เสริมแกร่ง “ระบบหลังบ้าน”

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.ต้องการให้รัฐสนับสนุน เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันของไทย เช่น การพัฒนากลไกการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เช่น กองทุน FTA ให้เพียงพอ ตรงเป้าหมาย และลดขั้นตอนการเข้าถึงที่มีความซ้ำซ้อน

การส่งเสริมการออกไปลงทุนในประเทศภาคีสมาชิกทั้งการอำนวยความสะดวกสนับสนุนด้านการเงิน ลดค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินท้องถิ่น การเจรจาอนุสัญญาภาษีซ้อน ลดข้อจำกัดและต้นทุนการโอนรายได้กลับเข้าประเทศ

การเร่งรัดระบบรับรอง national single window ให้ครอบคลุม B2G แบบ single submission และเชื่อมโยงกับ ASEAN Single Window กับสมาชิก RCEP การสนับสนุนให้เอกชนเข้าสู่ e-Commerce platform ของสมาชิก เพื่อรองรับโอกาสการค้าแบบ B2C ได้มากขึ้น โครงการ SMEs Pro-active สำหรับค่าธรรมเนียมการใช้ platform และค่าใช้จ่ายการทำการตลาด เป็นต้น

และที่สำคัญต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางรางเชื่อมลุ่มแม่โขง GMS เร่งเจรจาความตกลง CBTA (Cross Border Transport Agreement) เพื่อเพิ่มจำนวนการขนส่งทางถนน และให้รถขนส่งไทยสามารถข้ามแดนไปถึงประเทศสมาชิกอื่น

การเจรจาและสนับสนุนการบินไทยเพื่อเปิดให้บริการ freighter ประจำเส้นทางจากไทยไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP เพื่อเพิ่มปริมาณระวางขนส่งสินค้า ตลอดจนส่งเสริมศักยภาพและโอกาสเป็นศูนย์กลางทางการบินของไทยในภูมิภาค