ปตท.จ่อ MOU ลงทุนผุดห้องเย็นระเบียงผลไม้อีอีซี

ตลาดค้าส่งผลไม้ในกรุงเทพและปริมณฑล

“คณิศ” เตรียมลงนาม MOU กับ ปตท. ปลายเดือน ม.ค. 64 นี้ ทุ่ม 400 ล้านบาท ลุยโปรเจ็กต์ห้องเย็นผลไม้ โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) หวังทันปี’64 เล็งดึง อบจ.-ผู้ส่งออก-ชุมชน ร่วมคณะกรรมการบริหารตลาดกลาง ประมูลออนไลน์ e-Auction-ปล่อยเช่า

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯ EEC) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ว่า ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งสรุปแนวทางจัดตั้ง EFC

โดยยังคงกำหนดเป้าหมายสำคัญให้เป็นตลาดกลางประมูลผลไม้คุณภาพสูงเพื่อจะช่วยยกภาคการเกษตรในพื้นที่ สร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน

ส่วนกิจกรรมหลักภายใต้การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของตลาดกลางประมูลสินค้า EFC จะประกอบด้วย

1.ระบบห้องแช่เย็น (cold storage)

2.ระบบการประมูลสินค้าออนไลน์ (e-Auction)

3.การรับรองมาตรฐาน (quality inspection)

4.กิจกรรมการแปรรูปสินค้า (processing)

5.กิจกรรมหีบห่อและการจัดการด้านโลจิสติกส์ (packaging & logistic)

โดยผลการหารือแนวทางการจัดทำระบบรูปแบบและห้องแช่เย็น ระหว่าง สกพอ. ปตท. และ อบจ.ระยอง สรุปได้ 4 แนวทาง คือ 1.ผลการวิเคราะห์ขนาดของห้องแช่แข็ง (cold storage) ที่เหมาะสมเบื้องต้นมีขนาด 4,000 ตัน รองรับทุเรียน ผลไม้อื่น ๆ และอาหารทะเลให้กระจายขายทั้งปี โดยใช้พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ในการก่อสร้างห้องเย็น ซึ่งจะเป็นรูปแบบ multiblock model และ multipurposes

2.พื้นที่ตั้งโครงการ ให้ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จ.ระยอง ที่จะเปิดดำเนินการในปี 2567 โดยใช้วิธีการเช่าพื้นที่ของ กนอ. เพราะเหมาะสมด้านโลจิสติกส์ สามารถเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานแกนหลักในพื้นที่ EEC

3.ระบบห้องเย็น จะประกอบด้วย ห้องเย็นสำหรับการแช่เยือกแข็ง (blast freezer) ใช้ liquid nitrogen blast freezer ทำให้ได้คุณภาพสินค้าที่ใกล้เคียงกับคุณภาพของผลสดเดิม คุณภาพจะดีกว่าการแช่แข็งด้วยระบบไฟฟ้า โดยไนโตรเจนเหลว (liquid nitrogen) สามารถผลิตได้จากพลังงานความเย็นจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)

4.ปตท. ในฐานะผู้ลงทุนสร้างห้องเย็น จะใช้รูปแบบให้บริการโดยการให้เช่า

“ระหว่างที่รอการเซ็น MOU เราต้องเตรียมเรื่องการวางระบบประมูลสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และมาตรฐานสินค้า ที่สำคัญคือการเร่งหาผู้ร่วมทุนเอกชน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดตั้งเป็นบริษัทมาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการเช่าห้องเย็น ทำการตลาดและดำเนินการประมูลสินค้าอิเล็กทรอนิกส์”

“เราคาดว่าจะดึง อบจ. ผู้ส่งออก และชุมชนมาเป็นผู้บริหารจัดการ เราคุยไปแล้วระดับหนึ่ง และก็ต้องร่วมมือกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ จัดทำมาตรฐานสินค้าสำหรับการค้าและการประมูล เพราะเขามีความรู้ เก่งมากกว่าเรา”

จากแนวทางดังกล่าว ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังจากทาง EEC ได้เสนอแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) เพื่อต้องการผลักดัน ยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพดี และราคาสูงขึ้น กับ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ ผลไม้ ประมงเพาะเลี้ยง พืชชีวภาพ พืชสมุนไพร ปศุสัตว์

จึงเร่งรัดการลงทุนในโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ให้เกิดโดยเร็วนั้น ล่าสุดแผนดังกล่าว ที่ประชุมเห็นชอบให้เดินหน้าโครงการทันที และสรุปที่จะกำหนดให้ตั้งอยู่ในสมาร์ทปาร์ก ให้เช่าพื้นที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ขณะนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมลงทุนสร้างห้องเย็นด้วยมูลค่า 300-400 ล้านบาทแล้ว

โดยห้องเย็นดังกล่าวสามารถเก็บความจุของผลไม้ได้ 4,000 ตัน โดยช่วงเดือน ม.ค. 2564 คาดว่าจะลงนามความร่วมมือกับทาง ปตท.ได้ จากนั้นจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างจนสามารถเปิดดำเนินการได้ในปลายปี 2564