กางแผนอุ้มเกษตรกร ประกันรายได้-หาตลาด

เยียวยาเกษตรกร มาตรการ

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนการดูแลราคาสินค้าเกษตรในปี 2564 ว่า กรมการค้าภายในยังคงเดินหน้าตามนโยบายรัฐบาล ในการดำเนินโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด

ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเป็นปีที่ 2 ใน 4 สินค้า คือ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และยางพารา ส่วนปาล์มน้ำมันได้ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ ซึ่งกำลังจะต้องเตรียมเสนอมาตรการรอบใหม่

ทั้งยังได้ดำเนินมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้ของพืชแต่ละชนิด เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาด้วย เช่น การรับฝากเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง เพื่อให้เกษตรกรชะลอการจำหน่ายในช่วงราคาลดลง การบริหารการนำเข้า เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ในช่วงที่ผลผลิตข้าวโพดออกสู่ตลาด และมาตรการดูแลตรวจสอบติดตามปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์ม เป็นต้น

ขณะที่สินค้าเกษตรชนิดอื่นที่ไม่ได้มีมาตรการประกันรายได้ ทางกรมได้เข้าไปดูแลเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าผลไม้ ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักของไทย ซึ่งผลผลิตผลไม้ของไทยกว่า 60% จะเป็นการส่งออก

แต่ด้วยสถานการณ์ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกอาจมีปัญหาล่าช้า ทางกรมจึงได้เตรียมแผนรับมือผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาด ด้วยการเชื่อมโยงหาตลาดรองรับผลผลิตจากเกษตรกร โดยในปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่การทำการตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้น

ล่าสุดกรมได้หารือกับกลุ่มแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ จตุจักรมอลล์ รวมถึงผู้ให้บริการขนส่งสินค้า เพื่อเตรียมพร้อมการกระจายสินค้าไปยังผู้ซื้อผลไม้ให้สามารถเข้าถึงสินค้าจากชาวสวนได้โดยตรงมากขึ้น

เบื้องต้นจะนำร่องในสินค้าผลไม้หลัก เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย ลองกอง และสับปะรด เป็นต้น คาดว่าจะเห็นรายละเอียดได้เร็ว ๆ นี้ว่าจะเป็นรูปแบบการเชื่อมโยงการขายอย่างไร พร้อมกับหารือผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเพื่อช่วยลดต้นทุนด้วย

“กรมยังดำเนินการการเชื่อมโยงการขาย MOU กับผู้ซื้อและผู้ปลูก เพื่อกระจายสินค้าถึงมือผู้ซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และอาจมีมาตรการเสริมด้านสภาพคล่องเข้าช่วยเหลือด้วย”

อย่างไรก็ตาม แผนดูแลราคาสินค้านี้จะต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์ผลผลิตของสินค้าเกษตรแต่ละชนิดว่าจะเป็นอย่างไร แผนทั้งหมดสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสถานการณ์ได้ ซึ่งกรมมั่นใจว่ามาตรการเหล่านี้จะมีส่วนช่วยเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นได้