“ตู้สินค้า” ขาดแคลนข้ามปี ฉุดส่งออกปรับแผนลดเป้า

ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนยืดเยื้อข้ามปี คาดลากยาวหลังตรุษจีน สมาคมทูน่าโอด “โลจิสติกส์ดิสรัปชั่น” ฉุดส่งออกไตรมาสแรกหดตัว 5% ต้องปรับลดเป้า กลุ่มส่งออกข้าวปรับแผนส่งมอบแบ่งลอต ชี้ค่าบริการพุ่งทะลุ 300-500% ผู้นำเข้ารับไม่ไหว ไก่ส่งออกชี้ซวยซ้ำ 11 เดือนยอดส่งออกทรุด 15% ซ้ำต้องปรับพอร์ตหลัง Brexit เจอต้นทุนขึ้นท่าเรืออังกฤษแพงอีก

สถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ (ชอร์ต) และการปรับขึ้นค่าบริการของสายการเดินเรือยังคงรุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 และมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อไปถึงหลังเทศกาลตรุษจีนของปี 2564

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกที่ใช้ตู้คอนเทนเนอร์มากกว่าปีละ 200 ล้านตู้ กำลังเร่งส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าก่อนจะหยุดยาวในช่วงตรุษจีน

“ไทยต้องแย่งตู้กับจีนและเวียดนาม แม้จะยอมจ่ายค่าบริการที่สูงขึ้นก็แย่งลำบาก ที่เวียดนามก็ใช้ 13 ล้านตู้ ไทยใช้ 10 ล้านตู้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสายเดินเรือว่าจะส่งเรือมาได้หรือไม่”

ขณะนี้ต้องรอจีนเร่งส่งออกสินค้าให้หมด หลังตรุษจีนประมาณ 1 เดือน ถึงจะเป็นจังหวะการส่งออกของไทย สรท.จึงประเมินแนวโน้มการส่งออกปี 2564 จะขยายตัว 3-4% จากปี 2563 ที่คาดว่าจะติดลบ 6-7%

ภาคเอกชนจึงเสนอให้รัฐเพิ่มมาตรการจูงใจให้นำเข้าตู้เปล่า โดยลดภาระท่าเรือ และซ่อมแซมตู้เก่า หรือนำตู้ที่อยู่ในอายัดของกรมศุลกากรมาใช้ประโยชน์ พร้อมให้เรือใหญ่ขนาด 400 เมตร เข้าเทียบท่าแหลมฉบังเป็นการถาวร พร้อมตรวจสอบปริมาณตู้เปล่าในไทย เพื่อให้ตู้ที่เก็บในลานเกิดการหมุนเวียน

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ปัญหาโลจิสติกส์ดิสรัปชั่นจากตู้ขาดแคลนนั้นกระทบการส่งออกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ภาพรวมน่าจะยืดเยื้อ ประเมินว่ายอดส่งออกในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้จะหดตัว 5% หากหลังเดือนมิถุนายนสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย สมาคมต้องทบทวนตัวเลขเป้าหมายใหม่ จากที่ตั้งไว้ว่า ปี 2564 จะขยายตัว 5-10%

“ที่ผ่านมาเราไม่มีตู้ส่งออกในช่วง 1-2 เดือน คือหายไป 10% สมาคมประสานกับกระทรวงพาณิชย์แล้ว แต่คงแก้ยาก เพราะเกิดการแพร่ระบาดโควิดที่รุนแรงในสหรัฐ และยุโรป ทำให้ตู้สินค้าค้างปลายทางนานกว่าปกติจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน”

ทั้งนี้ ตัวเลขส่งออกปี 2563 คาดว่าขยายตัว 3% โดยมีปัจจัยบวกคือราคาวัตถุดิบลดลง สินค้ากลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันก็ปรับตัวเพิ่ม 15-20% จึงถัวเฉลี่ยกันไป แต่ละปีไทยส่งออกทูน่ากระป๋อง 80,000 ล้านบาท และอาหารสัตว์เลี้ยง 25,000-30,000 ล้านบาท รวมเป็น 1-1.2 แสนล้านบาท

นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธาน บริษัท เอเซีย โกลเด้นไรซ์ จำกัด กล่าวว่า ปัญหานี้กระทบต่อธุรกิจส่งออกตั้งแต่เกิดสงครามการค้าสหรัฐ-จีน จนมาเจอโควิด และการล็อกดาวน์ของท่าเรือในบางประเทศ ทำให้อัตราการหมุนของตู้ในระบบติดขัดต่อเนื่อง ทั้งภาวะขาดแคลนตู้ การปรับขึ้นค่าระวางเรือ คาดว่าจะยืดเยื้อไปอีก 3-5 เดือน

ส่วนธุรกิจข้าว 80-90% จะส่งมอบทางเรือใหญ่ และเผชิญกับค่าเฟรดที่แพงขึ้น 3-5 เท่า หรือ 300-500% ส่งผลให้ลูกค้าปรับแผนซื้อเท่าที่จำเป็น โดยตลาดยังมีความต้องการข้าวไทย เมื่อมีจำนวนตู้น้อย ผู้ส่งออกก็ต้องปรับแผนส่งมอบในแต่ละลอต

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไก่แปรรูป และไก่ปรุงสุก มีผลกระทบลดลง 15-16% ในช่วง 11 เดือนแรก ปีนี้แนวโน้มการส่งออกคงได้รับผลกระทบติดลบต่อเนื่อง ไม่เพียงเรื่องตู้ แต่อุตสาหกรรมไก่ยังต้องรับมือการเปลี่ยนเส้นทางขนส่งทางเรือด้วย หลังสหราชอาณาจักรแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit)

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า หลัง Brexit ผู้ส่งสินค้าทางเรือต้องนำสินค้าไปขึ้นที่เมืองท่าของอังกฤษโดยตรง เช่น Felixstowe ซึ่งกำลังมีปัญหาเรื่องโควิด ทำให้ท่าเรือใน UK มีค่าระวางสูงขึ้นมาก เช่นเดียวกับท่าเรือหลักใน EU ส่งผลต่อภาพรวมในด้านต้นทุนขนส่งอาจสูงขึ้น 30%

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มต้องรอตู้นานกว่าปกติ จาก 2-3 สัปดาห์ และต้องจ่ายค่าบริการที่แพงขึ้นกว่า 30% คาดว่าไตรมาสแรกของปีนี้ การส่งออกจะติดลบ 5%

“แม้ยอมจ่ายแพง และจองล่วงหน้านานก็ยังมีปัญหา ผมหารือในที่ประชุมแล้วเมื่อปลายปี ให้เตรียมตัวและหาทางแก้ไข แต่ดูเหมือนหน่วยงานรัฐจัดการค่อนข้างช้า”