บีโอไอเตรียมลุยดึงนักลงทุนแบบเข้มข้น สั่ง 14 สาขาต่างประเทศ สำรวจเชิงลึกอุตสาหกรรมเด่นที่ตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ด้านแผนขยายสำนักงานสาขา 3 แห่ง ฮานอย โฮจิมินห์ และอินโดนีเซีย ขอชะลอออกไปขยายในปี’61 แทน
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2560 นี้ บีโอไอจะเน้นเดินหน้าดึงนักลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ระยะ 7 ปี (2558-2564) ที่มีการกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยล่าสุดได้มอบหมายให้ 14 สาขาของบีโอไอ
ในต่างประเทศ คือ โตเกียว, โอซากา, โซล, ปักกิ่ง, กว่างโจ, เซี่ยงไฮ้, สตอกโฮล์ม, ไทเป, ซิดนีย์, แฟรงก์เฟิร์ต, ปารีส,ลอสแองเจลิส และมุมไบ ปรับกลยุทธ์ในการดึงนักลงทุนแบบ “เจาะเมืองเป้าหมาย” ด้วยการสำรวจแต่ละเมืองในเชิงลึกคือ อุตสาหกรรมใดที่โดดเด่นและตรงกับความต้องการที่ส่งเสริมการลงทุนของไทย หลังจากนั้นให้แต่ละสาขาจัดสัมมนาพิเศษเพื่อให้ข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์ รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนั้นโดยตรง รวมถึงให้ความชัดเจนถึงนโยบายการลงทุนของไทยว่าเป็นอย่างไร และที่สำคัญคือเมื่อนักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยแล้วจะได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
นอกจากนี้ บีโอไอยังมีเป้าหมายที่จะตั้งสำนักงานสาขาในต่างประเทศอีกรวม 3 แห่งในปี 2560 นี้ คือ 1) ฮานอย 2) โฮจิมินห์ และ 3) ประเทศอินโดนีเซีย แต่จะต้องชะลอออกไปก่อน เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งได้ทันการจัดสรรงบประมาณของปีนี้ อย่างไรก็ตาม การขยายสำนักงานสาขาในต่างประเทศนี้ได้รับความเห็นชอบตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) แล้ว ซึ่งการขยายสำนักงานสาขานี้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับภารกิจให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างใหม่ของบีโอไอ ที่ได้จัดกลุ่มงานใหม่จาก4 สำนักงาน ให้เพิ่มเป็น 5 สำนักงาน เช่น สำนักบริหารการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร ผลิตผลการเกษตร อุตสาหกรรมเบา สำนักงานบริหารการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า การลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ หรือ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีการจัดอยู่ในกลุ่มใด ๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ที่จะนำไปสู่ Automated อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น
“ต้องให้แต่ละสาขาโฟกัสมาเลยว่า ในแต่ละเมืองมีอุตสาหกรรม ที่โดดเด่นอะไรบ้าง เช่น หากประเทศนั้น ๆ มีอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ก็ให้ลงรายละเอียดให้ชัดเจนว่า มีกี่บริษัท และเป็นใคร กลยุทธ์ดังกล่าวจะทำให้ได้
เป้าหมายของบริษัทที่ตรงและชัดเจนมากขึ้น จากเดิมที่จะใช้วิธีการจัดสัมมนาแบบทั่วไป ให้รู้จักประเทศไทยว่าไทยมีอะไรบ้างเท่านั้น”