จีนสบช่องทุบราคาทุเรียน อ้าง “โควิด” ถล่มตลาด 1.4 หมื่นล้าน

ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกกำลังจะมาถึงในไม่ช้า โดยปกติผลผลิตทุเรียนที่ได้จะใช้ส่งออกไปตลาดจีนเป็นอันดับ 1

ซึ่งในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 ไทยส่งออกทุเรียนไปจีนมูลค่า 1,489.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่ม 83.20% ครองสัดส่วน 72.73% ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของไทย

แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลจีนมีมาตรการเฝ้าระวังการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ เข้มข้นไทยจึงต้องเตรียมแผนผลักดันการส่งออกอย่างรัดกุม ให้มีตลาดรองรับผลผลิต

และรักษาเสถียรภาพราคาไม่กระทบชาวสวน “นายสมเด็จ สุสมบูรณ์” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

Advertisment

จีนเพิ่มมาตรการเข้ม

ตามที่ก่อนหน้านี้มีข่าวกรณีที่จีนตรวจสอบทุเรียนนำเข้าว่ามีเชื้อโควิดติดไปกับทุเรียนจากที่ตกค้างในตู้คอนเทนเนอร์

ทางกรมประสานตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองชิงต่าว ซึ่่งเป็นเมืองที่ถูกระบุว่าพบปัญหา ซึ่งได้รับการยืนยันว่าไม่ได้พบในสินค้าทุเรียนนำเข้าจากไทย

“โดยปกติการส่งออกทุเรียนไปจีนผ่านทางเมืองหนานหนิง คุนหมิง และกว่างโจว เป็นเมืองท่าหลัก จากนั้นจะกระจายไปยังเมืองต่าง ๆ ในประเทศจีน ซึ่งในส่วนของชิงต่าวถือว่าเป็นเมืองใหม่ที่เพิ่งจะให้ความนิยมในการบริโภคทุเรียน

ตามปกติการส่งออกพอไปถึงก็จะมีกระบวนการตรวจสอบตามกระบวนการปกติ ซึ่งเท่าที่ทราบการส่งออกตรงที่ชิงต่าวถ้าผ่านทางเรือก็จะใช้เวลา 8-9 วัน สำหรับทุเรียนที่มีการส่งออกช่วงนี้เป็นผลผลิตช่วงนอกฤดู

Advertisment

และเป็นช่วงผลผลิตทางภาคใต้ออก ทางตะวันออกจะออกหลังจากนี้”

กระบวนการทุบราคา

“เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดจึงมีปัญหาการแพร่ระบาดเร็วในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาด จะมีผลต่อราคาทุเรียนหรือไม่ เพราะปีนี้สถานการณ์ราคาผลผลิตทุเรียนล่าสุดสูงถึง กก.ละ 160-180 บาท

เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคา กก.ละ 110 บาท น่าห่วงว่าสถานการณ์ราคาจะลดลงหรือไม่ หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ทางกรมได้ประสานไปยังพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ ให้เพิ่มความเข้มข้นในการดูแลป้องกันปัญหานี้ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและการส่งออกทุเรียนของไทย”

ภาพรวมการส่งออกไทย-จีน

ในปี 2562 ไทยส่งออกไปตลาดจีน รวม 29,169.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในปี 2563 (ม.ค.-พ.ย.) มีการส่งออกรวม 26,950.96 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.49% จากปี 2562 โดยเฉพาะสินค้าผลไม้ไทยถือเป็นสินค้าส่งออกหลักที่ส่งออกไปจีน คิดเป็นสัดส่วน 10.04%

ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมากรมได้จัดกิจกรรมส่งเสริมผลไม้ไทยไปภูมิภาคจีน (Thai Fruits Golden Months) 12 ครั้งใน 11 เมือง โดยมีมูลค่าซื้อขายทั้งปีที่ 614 ล้านบาท

ในปี 2564 นี้ กรมมีแผนทำการตลาดผลไม้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัด Thai Fruits Golden Months) ในปี 2564 รวม 7 โครงการ 13 เมือง

อัดแผนโปรโมตผลไม้

สำหรับกิจกรรม Thai Fruits Golden Mounths ประกอบด้วย เมืองเซี่ยงไฮ้ (ปักกิ่ง) และเมืองหนานหนิง (หนานหนิง ฉางชา) และเมืองชิงต่าว ในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม, เมืองเฉิงตู (เฉิงตู และฉงชิ่ง)

เมืองกว่างโจว (ฝอซาน จ้านเจียง อู่ฮั่น) เมืองเซี่ยเหมิน (เซี่ยเหมิน หนานชาง) ในเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม และเมืองคุนหมิง (คุนหมิง) เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม (ตามกราฟิก)

ทั้งยังมีการจัดทำแผนส่งเสริมการส่งออกผ่านโมเดิร์นเทรดมี 17 โครงการใน 16 เมือง ในสินค้าอาหารและไลฟ์สไตล์ ซึ่งทาง สคต.ทั้งหมดในภูมิภาคจีนจะร่วมกันทำขึ้น ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563-กันยายน 2564

โดยตามแผนนี้ วางเป้าหมายจะผลักดันสินค้าอาหารไปที่เมืองหนานหนิง, ชิงต่าว, เซี่ยงไฮ้, อันฮุยหรือเหอหนาน คุนหมิงและฮ่องกง

นอกจากนี้ ยังมีแผนการส่งเสริมการทำตลาดออนไลน์ 3 โครงการ คือ Top Thai Store, Online In Store Promotion และ Cross Border e-Commerce ซึ่งจะดำเนินการ ตลอดทั้งปีงบประมาณ 2564

ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต

การจัดทำแผนการตลาดผลไม้ทั้งหมดนี้เป็นไปตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มุ่งดำเนินยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง

ทางกรมได้จัดทำแผนกระจายผลไม้ไทยไปต่างประเทศ ทั้งแบบออฟไลน์ ออนไลน์ และไฮบริดไลน์ในปีงบประมาณ 2564 รวมทั้งหมด 38 กิจกรรม

โดยยังเน้นกิจกรรมออฟไลน์มากที่สุด 24 กิจกรรม โดยในไทยจะมีการจัดงานแสดงสินค้าอาหาร ThaiFEX-ANUGA ขึ้นระหว่างวันที่ 25-29 พฤษภาคมนี้ กิจกรรม Thai Fruits Golden Months

และแผนการส่งเสริมในร้านค้าปลีกโมเดิร์นเทรดแล้ว ยังมีโครงการเจรจาการค้าในและต่างประเทศ 3 งาน

“ส่วนงานแสดงสินค้านานาชาติตามแผนกำหนด 6 กิจกรรม แต่ภายหลังมีการยกเลิกไป 2 กิจกรรม คือ งาน SAIL ที่ประเทศฝรั่งเศส

ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม และงาน BIOFACH ที่จะจัดที่ประเทศเยอรมนี ระหว่าง 17-20 กุมภาพันธ์ จึงเหลือ 4 กิจกรรม คือ งานกัลฟ์ฟู้ด ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตศ์ ในเดือนกุมภาพันธ์ งาน Seoul Foods & Hotel 2021 ที่เมืองโกยาง ประเทศเกาหลี

ในเดือนพฤษภาคม และงานแสดงสินค้าอาหาร Fine Food Australia 2021 และงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่สหรัฐ ซึ่งจะจัดขึ้นราวเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้”

ที่เหลือจัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ 6 กิจกรรม ที่เป็น online business matching (OBM) ในสินค้าผักผลไม้แปรรูป อาหารเครื่องดื่ม สินค้าฮาลาล ซึ่งมีแผนจัดต่อเนื่องตลอดทั้งปีงบประมาณ

และรูปแบบกึ่งออนไลน์ หรือ hybrideline อีก 8 กิจกรรม เช่น งาน CIIE ที่จีน งาน Foodex ที่ญี่ปุ่น งานท็อปไทยแบรนด์ ที่ฮานอย โฮจิมินห์ คุนหมิง และเมียนมา

และมีแผนจะขยายการจัดงานท็อปไทยแบรนด์ในเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศด้วย

ดันยอดส่งออกผลไม้ 10%

นายสมเด็จกล่าวสรุปว่า ปี 2564 วางเป้าหมายว่าการส่งออกไปจีนจะเพิ่มขึ้น 2% จากปัจจัยบวกจากภาพรวมเศรษฐกิจจีน และนโยบายส่งเสริมการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

“ในส่วนของสินค้าผลไม้ของไทยคาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น 10% แม้ว่าจะมีปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ และการตรวจสอบสินค้าอย่างเข้มงวดจากมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19

แต่ด้วยแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก และจับคู่ธุรกิจผลไม้ เชื่อว่าจะสามารถผลักดันการส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมายได้”