SMEs เข้าไม่ถึงซอฟต์โลน 5 แสนล้าน ขอรัฐผ่อนปรนเร่งปล่อยกู้

ธุรกิจ-smes
แฟ้มภาพ

ธุรกิจท่องเที่ยว การ์เมนต์ ออร์แกไนซ์ ศิลปิน ร้านอาหารรอวันตาย “สภา-สมาพันธ์ SME” ประสานเสียงติงมาตรการรัฐปล่อยกู้ซอฟต์โลนแค่ 1.22 แสนล้านบาทจากวงเงิน 500,000 ล้านบาท เข้าถึงเพียง 70,000 คน ยัง “ไม่ถึงครึ่ง” ย้ำรายเล็กพร้อมขึ้นบัญชีเข้าระบบถูกต้องวอนรัฐนิรโทษกรรม พร้อมเสนอทางออกสำนักงานเขตลงพื้นที่ตรวจสอบร้านก่อนขึ้นทะเบียนส่งต่อมาตรการความช่วยเหลือให้เป็นระบบ

นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) กล่าวว่า SMEs ขณะนี้ประสบปัญหาถึงขั้นรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะไม่เพียงการต้องหยุดกิจกรรมเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่ยังต้องเจอกับปัญหาที่คู่ค้าบีบบังคับให้ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 กับแรงงานต่างด้าวและพนักงานทุกคน ร

วมถึงการทำความสะอาดสถานประกอบการเพื่อสร้างความมั่นใจต่อสินค้าที่ผลิต และเตรียมที่จะส่งให้คู่ค้าโดย 2 กลุ่มหลักที่กระทบที่สุดคือ SMEs กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มการ์เมนต์

จากการหารือกับประธานสภาเอสเอ็มอี จ.สมุทรสาคร เมื่อเร็ว ๆ นี้ ยอมรับว่ายังไม่สามารถหาทางออกเรื่องนี้ได้ เนื่องจากภาครัฐยังไม่มีนโยบายช่วยเหลือด้านนี้ออกมา สิ่งที่ SMEs ทำได้คือ การต้องกู้เงินนอกระบบเพื่อทำตามที่คู่ค้าต้องการ เพราะหวั่นการถูกยกเลิกออร์เดอร์ และการยกเลิกเข้าพักในกลุ่มท่องเที่ยว

ส่วนการเข้าสู่การกู้ในระบบของธนาคาร เป็นที่ทราบกันว่า SMEs ที่อยู่นอกระบบยังไม่ขึ้นบัญชีจะไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือนี้ได้ โดยรัฐเองยังคงยืนยันและยังไม่มีการผ่อนปรนการเอาผิดสำหรับ SMEs ที่อยู่นอกระบบ
ทำให้ SMEs เหล่านี้ไม่กล้าที่จะขึ้นบัญชีเข้าระบบแบบถูกต้อง

ช็กความเดือดร้อนของเอสเอ็มอี

“รัฐควรใช้โอกาสนี้ผ่อนปรนให้เขาตั้งศูนย์ความช่วยเหลือขึ้นมา SMEs รายใดต้องการให้แรงงานตรวจเชื้อโควิด-19 เปิดให้เขาเข้ามา แจ้งว่าผลิตอะไร มีแรงงานกี่คน เป็นการเก็บข้อมูลพื้นฐานไปเลย และแลกด้วยการให้เขาขึ้นทะเบียนเข้าระบบให้ถูกต้อง โดยไม่ตรวจสอบเอาผิดย้อนหลังกับเขา หากรัฐยอมแบบนี้ได้ เชื่อว่าจะมี SMEs อีกหลายรายพร้อมเข้าสู่ระบบแน่นอน จากตอนนี้มีกัน 3 ล้านรายเข้าระบบแค่ 6 แสนรายเท่านั้น”

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช รองประธานและประธานบอร์ดภูมิภาค สมาพันธ์ SME ไทย เปิดเผยว่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบ 2 ครั้งนี้หนักกว่า ขณะที่ soft loan วงเงินเดิม 500,000 ล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยังเป็นปัญหาเดิมคือ SMEs เข้าไม่ถึง มีการปล่อยสินเชื่อไปเพียง 122,000 ล้านบาท จำนวน 70,000 รายเท่านั้น

ซึ่งในรอบแรกสินเชื่อยังปล่อยไม่ถึง 50% ของวงเงิน รอบ 2 ก็มาซ้ำเติม แนวทางออกทั้งหมดมันจะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐ ว่าจะลงถึงวิธีปฏิบัติของธนาคารหรือไม่ เช่น การผ่อนปรนเกณฑ์ ธปท. วิธีพิจารณาธนาคาร เพื่อไม่เป็นการกีดกัน SMEs เข้าถึงสินเชื่อ

“ผู้ประกอบการจำนวนมากถูกปฏิเสธสินเชื่อ เริ่มมีการกู้นอกระบบ ได้มีเสนอแก้เรื่องนี้มานาน โดยเอากองทุนฟื้นฟู NPL SMEs มาใช้ให้เต็มประสิทธิภาพ ตอนนี้ที่หนักคือ กลุ่มอาชีพอิสระผู้ประกอบการรายย่อย ท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ต ออร์แกไนซ์ ศิลปิน ร้านอาหาร แต่ก็จะมีบางมาตรการที่เป็นประโยชน์ เช่น มาตรการลดค่าครองชีพทั้งไฟฟ้า ประปา ที่กำลังจะออกมา แต่สำคัญคือ พักหนี้ เติมทุน ต่อลมหายใจ บ่มเพาะ ระบบพี่เลี้ยง ที่ปรึกษาให้ SMEs ต้องทำควบคู่กันไปด้วย”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าหลายโครงการที่ออกมา เป็นประโยชน์กับ SMEs แต่คนที่เดือดร้อนต้องการจริงมักไม่ได้ เพราะไม่มีระบบสกรีนแบบเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งรัฐเองถามหาคนเดือดร้อน ทางสมาพันธ์ได้เคยเสนอไปแล้วว่า สถานประกอบการใดที่ถูกสั่งปิดกิจการ หรือต้องปิดจากวิกฤตโควิด-19 ให้มีระบบขึ้นทะเบียนในแต่ละจังหวัด และให้ผู้ว่าฯร่วมกับภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ เยียวยาด้วยมาตรการต่าง ๆ ให้ทั่วถึง

เนื่องจากคนในแต่ละจังหวัดย่อมทราบดีว่าคนที่ได้รับผลกระทบอยู่ตรงไหนบ้าง ยกตัวอย่าง กทม.ถูกสั่งปิด ให้ออกมาตรการที่กระทบต่อ SMEs สำนักงานเขตแต่ละเขต จะต้องลงพื้นที่ตรวจสอบ ขึ้นทะเบียน หา ส่งต่อมาตรการความช่วยเหลือให้เป็นระบบ เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ได้รับการตอบรับ

“ต้องช่วยกันผลักดัน SMEs ที่เป็นรายย่อยเพราะเขาเดือดร้อนจริง เข้าหนี้ในระบบไม่ได้ สุดท้ายต้องไปหายืมนอกระบบ รัฐควรดึงเขาเหล่านี้มาขึ้นทะเบียน สร้างระบบบ่มเพาะวินัยทางการเงิน การเริ่มต้นธุรกิจ ให้โอกาสแหล่งทุน ความรู้ มีระบบพี่เลี้ยง ติดตาม ประเมินผลจริงจังโดยไม่วัดแค่ KPI เมื่อไม่มีการติดตามโครงการต่อเนื่อง ก็จะทำให้ข้อมูลขาดตอน”

ล่าสุด ทางสมาพันธ์เข้าประชุมหารือร่วมกับธนาคารออมสิน ถึงแนวทางการทำงานร่วมกันในปี 2564 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้ฝ่าวิกฤตโควิด-19 รอบ 2 นี้ไปให้ได้

ซึ่งธนาคารออมสินยืนยันความพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจในระบบเศรษฐกิจ ทั้งฐานรากและ SMEs เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ในอนาคตทั้ง 2 หน่วยงาน เตรียมที่จะจัดกิจกรรมร่วมกัน ให้เป็นประโยชน์และแนวทางกับเหล่าผู้ประกอบการ