จับตาชีวมวลไบโอแก๊สมาวินคว้า SPP ไฮบริด 300 MW

กลุ่มพลังงานทดแทน ส.อ.ท.วิเคราะห์ ยื่นประมูลโรงไฟฟ้าเอสพีพีไฮบริดฯแค่ 80 โปรเจ็กต์ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เหตุจากเงื่อนไข-สัญญาซื้อขายไฟของ กกพ.เข้มงวดมาก แจงรอบนี้ไบโอแมส-ไบโอแก๊ส ได้เปรียบที่สุดด้านเชื้อเพลิง กดราคาค่าไฟไว้ที่ 2.80-3.2 บาท เตรียมชงรัฐให้รับซื้อไฟฟ้าในอนาคตด้วยวิธีประมูลทั้งหมด

นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ “SPP Hybrid Firm” ที่สามารถผสมผสานเชื้อเพลิงตั้งแต่ 1 ประเภทขึ้นไปว่า ภายหลังจากการปิดรับให้ผู้สนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าไปแล้ว จากเดิมที่คาดว่าจะมีผู้ยื่นประมูลกว่า 200 โครงการ แต่ยื่นจริงเพียง85 โครงการ เนื่องจากเงื่อนไขการประมูลและสัญญาที่ค่อนข้างเข้มงวด แต่การแข่งขันยังคงรุนแรงเหมือนเดิม เพราะเมื่อพิจารณาจากรายชื่อแล้ว ถือเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโรงไฟฟ้า และคาดว่าการที่ กกพ.ใช้รูปแบบการแข่งขันด้านราคา (competitive bidding) นั้น จะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.80-3.2 บาท/หน่วย ในขณะที่ราคาประกาศของ กกพ.อยู่ที่ 3.66 บาท/หน่วย ถือว่ามีราคาใกล้เคียงกับค่าไฟฟ้าขายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จำหน่ายในปัจจุบันเมื่อประเมินจากต้นทุนของเชื้อเพลิงในปัจจุบัน กลุ่มผู้ประกอบการที่จะค่อนข้าง “ได้เปรียบ” มากที่สุดคือ โครงการที่เป็นเจ้าของวัตถุดิบด้วย คือกลุ่มชีวมวลและกลุ่มไบโอแก๊ส ในขณะที่ผู้ที่เสนอโซลาร์เซลล์ รวมกับการใช้แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน หรือ (energy storage system) แม้ว่าจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าราคาประกาศที่ 3.66 บาท/หน่วยก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถแข่งขันกับโครงการกลุ่มชีวมวลและกลุ่มไบโอแก๊สได้ ฉะนั้นจึงมีโอกาส “น้อยมาก” ที่จะชนะการประมูลครั้งนี้

แต่ในกรณีที่ภาครัฐต้องการสนับสนุนควร “แยก” การรับซื้อไฟฟ้าของกลุ่มนี้ออกต่างหากเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ตามโรดแมปของ Energy 4.0

“การประมูลโรงไฟฟ้า SPP Hybrid ครั้งนี้ มองว่าเป็นการแข่งขันกันตามกฎ win/win ทั้งรัฐและเอกชน ที่สำคัญคือผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้รับผลกระทบจากราคาค่าไฟ และส่งผลดีต่อประเทศที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง”

นายสุวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่การผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ประสบความสำเร็จ สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามเป้าหมายของภาครัฐกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนมีแนวคิดที่ต้องการเสนอภาครัฐคือ 1) หากการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าค่อนข้างต่ำได้จริง ภาครัฐควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนแข่งขันอย่างเสรีโดยใช้รูปแบบการประมูลสำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรอบต่อ ๆ ไปด้วย นอกจากไม่เป็นภาระผู้ใช้ไฟฟ้าแล้ว ยังกระตุ้นการลงทุนในภาคเอกชนได้ 2) ภาคเอกชนเห็นด้วยกับการแข่งขันด้านราคา โดยใช้วิธีการประมูล แต่ควรออกแบบการรับซื้อไฟฟ้าที่เปิดให้ “ชุมชน” ต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะการลงทุนด้านพลังงานทดแทนจะเป็นตัวกระจายรายได้ สร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน และไม่ควรดูที่ราคาค่าไฟอย่างเดียว ควรมองถึงประโยชน์ด้านอื่น ๆ ด้วย และ 3) ต้องการเสนอให้ภาครัฐ “เปิดกึ่งเสรีธุรกิจไฟฟ้า” ด้วยการให้ภาคเอกชนสามารถผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายให้ผู้ใช้โดยตรง (private sector)

Advertisment

“ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้ผลิตไฟฟ้าขายตรงได้ ไม่ต้องการให้มองว่าต้องการเข้าไปแข่งกับ กฟผ. ในส่วนของ กฟผ.เองก็สามารถทำในส่วนของการทำระบบเพื่อสำรองเอาไว้ในกรณีที่โรงไฟฟ้าต้องหยุดเดินเครื่องกะทันหันได้”

ล่าสุดนางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน กกพ. เปิดเผยถึงยอดผู้ยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในโครงการ SPP Hybrid Firm ว่า มีจำนวนรวม 85 โครงการ ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายรวมทั้งสิ้น 1,644 เมกะวัตต์ หรือมีกำลังผลิตติดตั้งรวม 2,464 เมกะวัตต์ สูงกว่าเป้าหมายรับซื้อถึงกว่า 5 เท่า ที่จะรับซื้อไฟฟ้าเพียง 300 เมกะวัตต์ โดยหลังจากประกาศผลการคัดเลือกแล้ว ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย