กรมชลประทาน แจงน้ำในทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำกว่า 1,300 ล้าน ลบ.ม. ยังอยู่ในทุ่งไม่ได้ระบายลงกทม.-ปริมณฑล

​กรณีที่ได้มีการนำเสนอข่าวของสื่อบางสำนักว่า มีน้ำที่ค้างในแก้มลิงจำนวนมาก จ่อที่จะไหลลงมายังจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม หรือจังหวัดริมฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา นั้น​

​ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ชี้แจงว่า ปริมาณน้ำที่กรมชลประทาน ได้นำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ทั้งฝั้งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นปริมาณน้ำที่ได้แบ่งรับมาจากบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่างเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเต็มความจุเกือบทุกทุ่งแล้ว คงเหลือทุ่งโพธิ์พระยา ที่ยังรับน้ำได้อีกประมาณ 25 ล้าน ลบ.ม. และทุ่งเจ้าเจ็ดบางยี่หน ยังรับน้ำได้อีกประมาณ 127 ล้าน ลบ.ม. ส่วนทุ่งพระยาบรรลือและทุ่งรังสิตใต้ เป็นทุ่งที่ใช้เป็นทางผ่านลำเลียงน้ำจากพื้นที่ตอนบนให้ระบายออกสู่ทะเล เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชุมชนเมือง ไม่สามารถเอาน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ได้

ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน(25 ต.ค. 60) มีการนำน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ในทุ่งรวมกันแล้วประมาณ 1,361.50 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณน้ำทั้งหมดยังเก็บกักไว้ในทุ่งทั้ง 12 ทุ่ง ยังไม่มีการระบายน้ำออกจากทุ่งลงมาสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ส่วนการนำน้ำออกจากทุ่งต่างๆ กรมชลประทานมีแผนที่จะดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2560 โดยจะเริ่มตั้งแต่พื้นที่ลุ่มต่ำตอนบน ทุ่งบางระกำไล่ลงมาจนถึงพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง 12 ทุ่ง ซึ่งเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่างๆลดต่ำลงกว่าระดับน้ำในทุ่ง การระบายน้ำออกจากทุ่งจะทำได้สะดวกขึ้น แต่หากทุ่งไหนมีปัญหาการระบายออกยาก จะทำการสูบระบายออกด้วยเครื่องสูบน้ำ พร้อมกับคงปริมาณน้ำไว้ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรได้เตรียมแปลงทำนารอบที่ 2(นาปรัง)ต่อไป

อนึ่ง กรมชลประทาน ขอยืนยันว่า ปริมาณน้ำที่อยู่ในทุ่ง จะระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน เป็นหลักหลังจากได้ระบายน้ำในแม่น้ำทั้งสองที่รับมาจากพื้นที่ตอนบน ลงทะเลจนระดับต่ำกว่าตลิ่งแล้ว จึงเริ่มระบายหรือสูบน้ำลงในแม่น้ำผ่านระบบชลประทาน โดยจะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ที่น้ำไหลผ่าน ยกเว้นพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งบางแห่งที่อาจจะมีน้ำเอ่อล้นบ้าง ซึ่งได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่วางแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบ พร้อมกับให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

หากประชาชนมีข้อสงสัยประการใด สามารถติดต่อสอบถามได้ทางสายด่วนกรมชลประทาน หมายเลข 1460 ตลอด 24 ชั่วโมง


​​