อคส.เรียกผู้ถูกกล่าวหา 3 ราย รับทราบผลสอบจัดซื้อถุงมือยาง 1.1 แสนล้านบาท

ถุงมือยาง
แฟ้มภาพ

คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เรียกผู้ถูกกล่าวหา 3 ราย ในการจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท ถึงข้อกล่าวหาในการกระทำผิดวินัย เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 พบมารับทราบเพียง 1 ราย อีก 2 ราย พร้อมจัดส่งหนังสือให้ทราบภายหลัง ให้เวลา 15 วันในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานี้

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ที่มี พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีการจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท ที่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) และพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ อคส. ระดับบริหาร 8 อีก 2 ราย เกี่ยวข้องมารับฟังข้อกล่าวหา หลังจากที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดแล้วเห็นว่ามีการกระทำความผิดจริง โดยเรียกว่ารับฟังเมื่อเวลา 14.30 น. ของวันนี้

โดยทั้ง 3 รายมีผู้ที่เข้ามารับฟังข้อกล่าวหาเพียง 1 ราย ขณะที่อีก 2 ราย ซึ่งมี พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ขอใช้สิทธิ์ไม่เข้ามารับฟังข้อกล่าวหาในวันนี้ (3 มีนาคม 2564) ขณะที่อีก 1 ราย ไม่สะดวกเนื่องจากไม่สบาย โดย 1 ราย ที่เข้ามารับฟังข้อกล่าวหานั้น หลังจากที่เข้ารับฟังประมาณ 30 นาที เมื่อออกมาจากห้องประชุมไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแต่อย่างใด และรีบเดินออกจากห้องประชุมทันที

ทั้งนี้ ข้อกล่าวหาที่คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า “การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คนนั้นมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย” จึงได้มีหนังสือเรียกผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คนมาพบ เพื่อแจ้งเรื่องที่ถูกกล่าวหาให้ทราบรวมทั้งสิ้น 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 1.ไม่รักษาและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอันเกี่ยวกับองค์การ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง คู่มือการปฏิบัติงานขององค์การ และมติคณะกรรมการอันเป็นเหตุให้เสียหายอย่างร้ายแรง 2.ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่การงานโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้

 

Advertisment

และ 3.ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อาศัยตำแหน่งหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม
ก็ตาม แสวงหาประโยชน์มิควรได้แก่ตนเองหรือแก่ผู้อื่น หรือช่วยเหลือผู้อื่นในทางที่จะทำให้เสียประโยชน์ขององค์กร สำหรับข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้ถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามระเบียบองค์การคลังสินค้า
ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2561

อย่างไรก็ดี หลังแจ้งข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิ์ให้การชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ภายใน 15 วัน นับแต่
รับทราบข้อกล่าวหาเพื่อประกอบการพิจารณา หลังจากนั้นคณะกรรมการฯ จะได้สรุปสำนวนการสืบสวน โดยจะได้ประชุมเพื่อพิจารณาลงมติต่อไป

ซึ่งหากคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วมีมติเห็นว่า เป็นกระทำที่ผิดวินัยอย่างร้ายแรง ก็จะต้องเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง หากพิจารณาและมีมติว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ก็จะต้องเสนอว่าเป็นความผิดกรณีใด ตามมาตราใด และควรได้รับโทษสถานใดต่อไป

ทั้งนี้ หากเห็นว่าเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ก็จะเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อให้ ผอ.อคส. พิจารณาออกคำสั่งต่อไป ส่วนผู้ที่ไม่ได้เข้ามารับฟังข้อกล่าวหาในครั้งนี้ ทางคณะกรรมการฯก็จะทำหนังสือส่งทางไปรษณีย์หลังจากที่มีคำสั่งให้มารับฟังข้อกล่าวหาต่อไป

Advertisment

และพร้อมให้เวลา 15 วันเพื่อที่จะชี้แจงหรือปฎิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวได้ เบื่องต้น ผู้ถูกกล่าวหา 1 รายที่เข้ามารับฟังนั้น ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าไม่ได้กระทำความผิด พร้อมที่จะทำหนังสือเพื่อชี้แจงข้อกล่าวดังกล่าวต่อไป

“ผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหา 1 ราย คือ นายเกียรติขจร แซ่ไต่ โดยให้การปฏิเสธและขอชี้แจงภายหลัง ภายใน 15 วัน ส่วนอีก 2 ราย ได้แก่ พันตำรวจเอกรุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ และนายมูรธาธร คำบุศย์ ไม่ได้มาในวันนี้ คณะกรรมการฯ จะได้ส่งบันทึกทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามระเบียบต่อไป”

อคส. ยืนยันว่าที่ผ่านมาได้เร่งรัดการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ ด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส รอบคอบ รัดกุม ภายใต้กรอบกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ถ่วงดึงหรือประวิงเวลาอย่างที่บางฝ่ายใช้เป็นเหตุในการกล่าวอ้างโจมตีการทำงานของ อคส. ไปในทางเสียหายซึ่งไม่เป็นความจริงแต่ประการใด อคส. ขอยืนยัน จะดำเนินการอย่างเต็มที่ตามอำนาจหน้าที่ระเบียบกฎหมายที่กำหนดให้ดีที่สุดต่อไป และคาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่นานก็จะสามารถสรุปเรื่องนี้ได้อย่างแน่นอน

ความคืบหน้าการดำเนินการทางวินัยกรณีการซื้อขายถุงมือยางนั้น คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงทางวินัย ชี้แจ้งความคืบหน้า ดังนี้ คณะกรรมการฯ ได้รับทราบคำสั่งเมื่อ 21 มกราคม 2564 และผู้ถูกล่าวหาได้รับทราบคำสั่ง เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 โดยผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิ์คัดค้านคำสั่งภายใน 7 วัน และมีสิทธิ์ชี้แจงภายใน 15 วัน ซึ่งครบกำหนดชี้แจงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 โดยที่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแล้ว 2 ราย ส่วนอีก 1 ราย ขอขยาย เวลา ซึ่งครบกำหนดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564

ระหว่างช่วงเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาใช้สิทธิชี้แจงตามระเบียบนั้น คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปด้วยอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง
เดิมจำนวน 2,669 แผ่น ทั้งจากพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานแวดล้อม อื่นๆ เบื้องต้น จนเพียงพอที่จะสามารถพิจารณาได้ว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คนนั้น มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยหรือไม่อย่างไร

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการฯ จึงได้ประชุมสรุปผลการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหามีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ทั้งในการอนุมัติจัดซื้อและจ่ายเงินโดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากฝ่าฝืนข้อบังคับองค์การคลังสินค้าว่าด้วยการค้าข้าว พืชผล และสินค้าต่างๆ เพื่อการค้าปกติ พ.ศ.2526 ซึ่งกำหนดไว้ว่า วงเงินเกิน 50 ล้านบาท ให้เป็นมติของคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า

และในการจัดทำสัญญาซื้อและสัญญาขายก็เป็นไปโดยมิชอบกล่าวคือ สัญญาไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากอัยการสูงสุด และมิได้ดำเนินการตามระเบียบองค์การคลังสินค้าว่าด้วยการจัดซื้อสินค้าเพื่อการค้าปกติ พ.ศ.2561 โดยมิได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ประกอบการ มิได้มีการประกาศอย่างเปิดเผย มิได้จัดทำรายงานตามระเบียบฯ อีกทั้งการจัดทำสัญญายังมีลักษณะเป็นการสมคบกันเพื่อเอื้อประโยชน์ แก่เอกชนและเป็นการทำให้รัฐเสียเปรียบ

โดยสัญญาซื้อกำหนดให้รัฐจ่ายเงินมัดจำก่อนที่จะให้เอกชนวางหลักค้ำประกันตามสัญญา ทั้งที่เงินมัดจำดังกล่าวเป็นจำนวนมากถึง 2,000 ล้านบาท ส่วนสัญญาขายก็เป็นการขายที่เล็งเห็นได้ว่ารัฐขาดทุน ซึ่งเป็นมติที่คณะกรรมการฯ เห็นว่ามีความผิดจริงได้แจ้งให้ทั้ง 3 รายมารับฟังข้อกล่าวหาก่อนที่จะดำเนินตามขั้นตอนจากนี้ต่อไป

“หากพบว่ามีความผิดร้ายแรงมีโทษตั้งแต่ให้ออกและไล่ออก ส่วนการดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาอื่นก็ต้องพิจารณาหลักฐานและดำเนินตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งก็ต้องรอหลังจากผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแล้ว”