กฟผ. ชะลอ เรือลอยน้ำ FSRU จับมือ ปตท.วางท่อตั้งโรงแปรสภาพก๊าซ

แฟ้มภาพประกอบข่าว

กฟผ.ชะลอโครงการเรือลอยน้ำสถานีเก็บรักษา-แปรสภาพก๊าซธรรมชาติ FSRU หลังได้รับข้อมูลใหม่ ปตท.สามารถวางท่อก๊าซไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกง-ภาคใต้ ตั้งสถานีแปรสภาพก๊าซให้เป็นของเหลวที่ “หนองแฟบ” หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้เรือลอยน้ำ FSRU พร้อมเดินหน้าเป็น shipper จัดหาและนำเข้าก๊าซ LNG เอง ประเดิมโควตาใหม่ปี 2564 จำนวน 1.9 ล้านตันแรกก่อน

ในที่สุด สถานะของโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification Unit : FSRU) บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน, โครงการท่าเทียบเรือ FSRU และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจาก FSRU ไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ทั้ง 3 โครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นอันต้องยุติลง สืบเนื่องมาจากความพยายามของ กฟผ.ที่จะเป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเอง จากที่จะต้องซื้อก๊าซ LNG ผ่านบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มาโดยตลอด

ทั้งนี้ การริเริ่มโครงการ FSRU ของ กฟผ.เป็นโครงการที่ถูกออกแบบมาพร้อมกับนโยบายการบริหารจัดการด้านการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้มีการแข่งขันเสรีและส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต ด้วยการเพิ่มจำนวนผู้จัดหาและจำหน่าย การเปิดให้บุคคลที่ 3 สามารถใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานี LNG (third party access หรือ TPA)

หลังจากที่กระบวนการจัดหา-นำเข้า-จำหน่ายถูก “ผูกขาด” โดยบริษัท ปตท.มาโดยตลอด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯในขณะนั้นจึงมีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG ในราคาที่ “ถูกกว่า” ราคาต่ำสุดของสัญญาจัดหาก๊าซระยะยาวเพื่อนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าหลักของ กฟผ.ทั้ง 3 แห่ง

ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ให้ความเห็นชอบให้ กฟผ.นำเข้าก๊าซ LNG มาใช้ในโรงไฟฟ้าบางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้-โรงไฟฟ้าวังน้อย ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในระหว่างปี 2564-2566 ปริมาณไม่เกิน 5.5 ล้านตัน แบ่งเป็น ปี 2564 ไม่เกิน 1.9 ล้านตัน ปี 2565 ไม่เกิน 1.8 ล้านตัน และปี 2566 ไม่เกิน 1.8 ล้านตัน แต่ไม่ได้พูดถึงสถานะของโครงการ FSRU แต่อย่างใด

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ หรือ FSRU “อาจจะต้องชะลอออกไปก่อน” เนื่องจากทางบริษัท ปตท.เพิ่งให้ข้อมูลล่าสุดกับ กฟผ.ว่า ปตท.สามารถต่อท่อก๊าซไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกงกับวางท่อก๊าซลงไปภาคใต้ได้แล้ว และ กฟผ.กับ ปตท.มีความตกลงกันที่จะร่วมมือในการทำงานในส่วนนี้ โดย ปตท.จะไปตั้งสถานีแปรสภาพจากก๊าซมาเป็นของเหลวที่หนองแฟบ จ.ระยอง

ส่วนโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซ จำนวน 2 โรง (ชุดที่ 1 ขนาด 700 MW เข้าระบบปี 2570 กับชุดที่ 2 ขนาด 700 MW เข้าระบบปี 2572) ที่ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP Rev1) นั้น กฟผ.ได้มีการหารือร่วมกับ ปตท. โดย กฟผ.จะเป็นผู้สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซตามแผน

ในขณะที่ ปตท.จะวางท่อก๊าซไปให้ และจะมีการสร้างสถานีรับก๊าซ LNG อาจจะเป็นเจ้าของร่วมกันระหว่าง กฟผ.กับ ปตท. ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่ามีการวางโครงข่ายท่อก๊าซและสถานีแปรสภาพก๊าซไว้เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าในปัจจุบันและอนาคตไว้แล้ว “ทำให้ตอนนี้โครงการ FSRU อาจจะยังไม่ต้อง แต่เรื่องนี้รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจในข้อเสนอ”

“FSRU คือ สถานีแปรสภาพก๊าซเป็นของเหลวที่อยู่ในน้ำ แต่ความสะดวกในการแปรสภาพมันแตกต่างกัน บางแห่งอยู่บนบกจะดีกว่า อย่างที่ภาคใต้ก็ต้องไปตั้งสถานีแปรสภาพก๊าซใกล้ ๆ กับโรงไฟฟ้า อาจจะห่างสัก 200 กม. แต่ต้องอยู่ติดชายฝั่งเพราะจะต้องมีเรือวิ่งเข้ามาส่งก๊าซ LNG เข้าท่อก๊าซส่งมายังโรงไฟฟ้า เราจะทำเหมือนกับที่หนองแฟบ ไปขึ้นตรงที่โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีไม่ได้เพราะไม่ติดทะเล สถานีเป็นเจ้าของร่วมกันแล้วแบ่งคนละครึ่ง ท่อก๊าซเป็นของ ปตท. โดย กฟผ.ต้องจ่ายค่าผ่านท่อก๊าซให้” นายบุญญนิตย์กล่าว

ด้านการนำเข้าก๊าซ LNG หลังจากที่ กพช.มีมติให้ กฟผ.ยกเลิกการนำเข้า LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี เนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซในประเทศไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น และปริมาณก๊าซที่ผลิตได้จากอ่าวไทยไม่ได้ลดลงอย่างที่เคยคาดการณ์ไว้ รวมทั้งความกังวลที่ว่าการนำเข้าก๊าซ LNG ของ กฟผ. จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า และต้องไม่ให้เกิดภาวะ take or pay

และเปลี่ยนมาเป็นให้ กฟผ.นำเข้าก๊าซ LNG ระหว่างปี 2564-2566 ปริมาณไม่เกิน 5.5 ล้านตัน แทนนายบุญญนิตย์กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟผ.เป็น 1 ในผู้ประกอบการจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ หรือ shipper มีปริมาณโควตาก๊าซ LNG ที่ กบง.อนุมัติให้นำเข้าในปีนี้ จำนวนไม่เกิน 1.9 ล้านตัน ภายใต้กระบวนการที่ กฟผ.เป็นผู้จัดหา-ผู้นำเข้าก๊าซและผู้จำหน่ายก๊าซเอง ก๊าซที่นำเข้ามาจะผ่านท่อก๊าซของ ปตท.

ส่วนกรณีที่ว่าหากก๊าซ LNG ที่ กฟผ.นำเข้ามาเหลือจากการใช้ในโรงไฟฟ้านั้น “ตอนนี้ยังไม่ได้หารือกันว่า ถ้าเหลือจะขายได้หรือเปล่า”