ส่งออกไปเมียนมาทรุด 15% ไทยห่วงคว่ำบาตรลากยาว

ด่านชายแดนเมียนมา

ยอดส่งออกเมียนมาทรุด 2 เดือนติดลบ 15.2% ระดมสมองวอร์รูมชง “จุรินทร์” ประธาน กรอ.พาณิชย์ เคาะมาตรการกู้วิกฤต สภาผู้ส่งออกห่วงกระจายสินค้าช้า หลังโลจิสติกส์ในเมียนมาสะดุด-นักลงทุนหวั่นมาตรการคว่ำบาตรกระทบระยะยาว

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะทำงานวอร์รูม (war room) ภายใต้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประเมินสถานการณ์การค้าไทย-เมียนมา ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการให้ติดตามสถานการณ์ ประเมินปัญหา ผลกระทบพร้อมหาแนวทางช่วยเหลือเอกชน ผู้ส่งออก

“คณะทำงานวอร์รูมชุดนี้ มีทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมด้วย เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลรับทราบปัญหาและอุปสรรคการค้าของภาคเอกชน”

“รวมไปถึงประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ในเมียนมา สถานการณ์เรื่องการถูกคว่ำบาตรจากต่างชาติ เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือผู้ส่งออก ผู้ประกอบการไทย รวมไปถึงนักลงทุนไทยที่ลงทุนในเมียนมา เพราะต้องยอมรับว่ามีหลายบริษัทรายใหญ่รายเล็กเข้าไปลงทุนในเมียนมา ซึ่งหลังจากนี้ กรอ.พาณิชย์จะพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือลดอุปสรรคต่อไป”

สำหรับการค้าระหว่างไทย-เมียนมา ขณะนี้ยังสามารถดำเนินการได้ แต่ติดปัญหาเรื่องการขนส่ง การกระจายสินค้าบ้าง ส่วนการค้าชายแดนยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภายในเมียนมา แต่จะกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ในการปิดด่านบ้าง

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยไปเมียนมา เดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่า 278 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 29.5% ส่งผลให้การส่งออกช่วง 2 เดือนแรกมีมูลค่า 650 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15.2%

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า อยู่ระหว่างประเมินภาพรวมการค้าไทย-เมียนมาในเดือนมีนาคมว่าจะมีปริมาณคำสั่งซื้อเป็นอย่างไร ชะลอตัวหรือไม่ เบื้องต้นทราบว่าการขนส่ง ส่งมอบ และการกระจายสินค้าไทยในเมียนมาชะลอตัวมากขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้านี้ โดยสินค้าที่มีการชะลอตัว เช่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องปรุงอาหาร แต่อย่างไรก็ดี พบว่ามีสินค้าหลายรายการของไทยยังขยายตัว เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยานยนต์

“นักลงทุนไทยโดยเฉพาะกลุ่มโลจิสติกส์ที่เข้าไปทำธุรกิจตอนนี้ได้รับผลกระทบ ต่างทยอยปรับตัว บางส่วนไม่มั่นใจถึงสถานการณ์ว่าจะยังคงเดินหน้าธุรกิจต่อหรือไม่ เท่าที่ทราบส่วนใหญ่มีความกังวลว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะกระทบในระยะยาว หวังให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว ขณะที่ปัญหาเรื่องต่างชาติคว่ำบาตรเมียนมาก็ยังเป็นเรื่องที่ห่วง ซึ่งผู้ประกอบการต้องติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด”

รายงานจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 2564 ธนาคารเอกชนรายใหญ่หลายแห่งเริ่มเปิดบริการธุรกรรมทางการเงิน แต่ยังจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละวัน อาทิ ธนาคาร KBZ เริ่มเปิดทำการแล้ว 5 สาขาในเมืองย่างกุ้ง

ธนาคาร CB Bank เปิดทำการธนาคารแล้ว 8 สาขาในเมืองย่างกุ้ง คาดว่าจะทยอยเปิดเพิ่มขึ้น หลังจากพนักงานหยุดงานเพื่อร่วมการประท้วง 45 วันถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาอาศัยการทำธุรกรรมผ่านตู้ ATM และการใช้ mobile banking

ขณะที่วันที่ 24 มี.ค. 64 ผู้ประท้วงกำหนดให้เป็นวัน silent strike ให้ทุกคนหยุดอยู่บ้าน ไม่เปิดบริการตลาด ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้าง ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงร้านอาหาร เป็นเวลา 1 วัน และกลับมาเปิดปกติในวันที่ 25 มี.ค. 64