เงินเฟ้อไทยเดือน มี.ค 2564 หดตัวเพียง 0.08% ส่งสัญญาณดีขึ้น

เศรษฐกิจ

เงินเฟ้อไทยเดือน มี.ค 2564 หดตัวลดลง 0.08% ส่งสัญญาณดีขึ้นจากปัจจัยไทยมีวัคซีน ส่งผลเศรษฐกิจดี นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายดีขึ้น คาดจากนี้เงินเฟ้อไทยอยู่ในแดนบวกแน่นอน

วันที่ 5 เมษายน 2564 นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมีนาคม 2564 หดตัวน้อยลง 0.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง และยังเป็นการหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 13 เดือน

โดยมีสาเหตุสำคัญจากสินค้าในกลุ่มพลังงานที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 14 เดือน โดยสูงขึ้น 1.35% ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ในประเทศที่ปรับสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก รวมทั้ง น้ำมันพืช และเนื้อสุกร ที่ยังมีราคาสูง

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สูงขึ้น 0.23% (MoM) ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลง 0.53% (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลง 0.35% (QoQ)

ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 2564 กระทรวงพาณิชย์ ยังได้ปรับสมมุติฐานสำหรับคาดการณ์เงินเฟ้อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ 0.7-1.7% โดยค่ากลางอยู่ที่ 1.2% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง

“สมมุติฐานที่ประมาณการณ์ไว้และปรับใหม่ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจากเดิมที่มองโตอยู่ที่ 3.4-4.5% ปรับมาอยู่ที่ 2.5-3.5% น้ำมันดิบดูไบจากเดิมมองไว้อยู่ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับมาอยู่ที่ 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนจากเดิมที่มองอยู่ที่ 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ปรับมาอยู่ที่ 29-31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ”

อย่างไรก็ดี สนค. คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจากนี้จะปรับตัวดีขึ้นและขยายตัวเป็นบวกในเดือนเมษายน 2564 รวมไปถึงทั้งปี เนื่องจากสถานการณ์ต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น มีนักท่องเที่ยว การจับจ่ายซื้อสินค้า ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง การฉีดวัคซีนที่ขยายวงกว้างมากขึ้น

รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการท่องเที่ยวโดยกำหนดให้มีวันหยุดเพิ่มเติม การเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย

โดยที่จะส่งผลต่อความต้องการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศในระยะต่อไป นอกจากนี้ ราคาพลังงานโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ และอุปสงค์ด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับฐานราคาที่ต่ำในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตร ยังมีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

นายวิชานัน กล่าวอีกว่า เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ 0.09% โดยไตรมาสแรก ปี 2564 เงินเฟ้อทั่วไป ลดลง 0.53% และเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.12% เงินเฟ้อที่หดตัวน้อยลงในเดือนนี้ นับได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

อีกทั้งรายได้เกษตรกรที่ยังคงขยายตัวได้ดีตามราคาสินค้าเกษตร รวมทั้ง ดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ที่ปรับตัวดีขึ้น และยอดการจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมีนาคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลง 0.08% ตามการลดลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 0.26% ได้แก่ สินค้าในกลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 6.59% (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว) กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลง 0.90% (ไข่ไก่ นมสด นมถั่วเหลือง) และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.27% (น้ำดื่ม น้ำอัดลม)

สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ สัตว์น้ำ สูงขึ้น 1.76% (เนื้อสุกร ปลาหมึกกล้วย หอยแมลงภู่) กลุ่มผลไม้สด สูงขึ้น 0.01% (กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง องุ่น)

ขณะที่หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.04% ได้แก่ หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้น 5.43% (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะ) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.01% (เบียร์) ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลง 0.30% (เสื้อยืดสตรี เสื้อยืดบุรุษ) หมวดเคหสถาน ลดลง 4.87% (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ก๊าซหุงต้ม)

หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลง 0.04% (ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สบู่ถูตัว แชมพู) และหมวดการบันเทิงการอ่านและการศึกษา ปรับลดลงที่ 0.01% (ค่าห้องพักโรงแรม เครื่องถวายพระ)

อย่างไรก็ดี สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนมีนาคม 2564 จำนวน 422 รายการ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า สินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น 216 รายการ เช่น แก๊สโซฮอลล์ 91 น้ำมันดีเซล B7 แก๊สโซฮออล์ 95 น้ำมันดีเซล B10 แก๊สโซฮอลล์ E20 น้ำมันเบนซิล 95 เนื้อสุกร น้ำมันพืช อาหารกลางวัน สินค้าที่ปรับตัวลดลง 148 รายการ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ก๊าซหุงต้ม ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว มะม่วง หัวหอมแดง ผักกาดขาว กระเทียม สินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลง 66 รายการ