สมาชิก WTO เริ่มเดินเครื่องเตรียมการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 12

ส่งออก
Photo by CLEMENT MAHOUDEAU / AFP

สมาชิก WTO เตรียมการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 12 พร้อมร่วมประชุมหารือในประเด็นสำคัญต่างๆ โดยเป็นการเร่งเครื่องอย่างเต็มที่

วันที่ 8 เมษายน 2564 นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาชิกองค์การการค้าโลกหรือ WTO ได้เริ่มเตรียมการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 12 (12th WTO Ministerial Conference Meeting) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 ที่นครเจนีวา

หลังจากที่ได้ผู้อำนวยการใหญ่ WTO ท่านใหม่ คือ ดร.เอ็นโกซี่ โอคอนโจ อิเวลา (Dr.Ngozi Okonjo-Iweala) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ WTO คนที่ 7 จากประเทศไนจีเรียมาเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา

พิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์

ประเด็นหลัก ๆ ที่กำลังหารือกันเพื่อเสนอให้ที่ประชุม MC 12 เห็นชอบคือ การอุดหนุนประมง เรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เรื่องกฎระเบียบภายในของภาคบริการ การปฏิรูปกระบวนการระงับข้อพิพาท การปฏิบัติเป็นพิเศษต่อประเทศพัฒนาน้อยที่สุด การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน สินค้าเกษตร เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ/วัคซีน และการช่วยเร่งฟื้นคืนเศรษฐกิจโลก เป็นต้น

โดยหลายเรื่องมีการหารือกันมาล่วงหน้า แต่คงยังต้องใช้เวลาในการเจรจากันต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งคณะผู้แทนถาวรไทยฯ จะสรุปประเด็นสำคัญแต่ละเรื่องเพื่อเผยแพร่ต่อไป

ประเด็นที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง คือเรื่องการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนและสุขภาพ โดยผู้อำนวยการใหญ่ WTO มีภูมิหลังการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัคซีน จึงมีแนวคิดที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและประเทศที่ต้องการใช้วัคซีน

โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ให้ตกลงกันเรื่องการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงและบนเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายรับได้ นอกจากนี้ ดร.เอ็นโกซี่ยังเห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย มีศักยภาพที่จะเป็นฐานการผลิตวัคซีนให้ประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันได้ จึงอยากให้มีการหารือเรื่องการลงทุนผลิตวัคซีนโดยบริษัทต่าง ๆ ต่อไปอีกด้วย

ทั้งนี้ มาตรการการห้ามส่งออกวัคซีนหรือส่วนประกอบสำคัญของวัคซีน เป็นส่วนหนึ่งที่ ผอ.ใหญ่ WTO เห็นว่าอาจเป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก จึงได้เรียกร้องให้ประเทศที่ออกมาตรการลักษณะนี้ออกมาให้ทบทวนใหม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าถึงวัคซีนได้รวดเร็ว อันจะนำไปสู่การฟื้นตัวของทุกประเทศได้เร็วขึ้น

การประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ความตั้งใจของสมาชิก WTO ที่จะพลิกฟื้นบทบาทขององค์การและระบบกฎเกณฑ์แบบพหุภาคีให้เดินหน้าต่อไปได้ หลังจากที่ประสบปัญหาจากประเทศใหญ่บางประเทศ เช่น สหรัฐฯ ที่ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีนัก

โดยขณะนี้ประธานาธิบดีไบเดนได้แต่งตั้งผู้แทนการค้าหรือ USTR คนใหม่ซึ่งมีภูมิหลังการทำงานที่คุ้นเคยกับกฎเกณฑ์และกระบวนการของ WTO เป็นอย่างดี จึงน่าจะมีปฏิสัมพันธ์กับ WTO มากขึ้นไม่มากก็น้อย การกลับมา engage ใน WTO ของสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตามต่อไป

นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า พัฒนาอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจใน WTO คือ กระบวนการหารือบางเรื่องที่ใช้รูปแบบหลายฝ่าย (plurilateral) แทนพหุภาคี (multilateral) โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่ได้อยู่ใน mandate การเจรจาปัจจุบันหรือเป็นเรื่องสมัยใหม่ เช่น e-commerce การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เป็นต้น

เพราะบางประเทศมองว่า กฎเกณฑ์การค้าปัจจุบันของ WTO ที่ส่วนใหญ่เจรจาเสร็จในปี 2537 คือรอบอุรุกวัย ไม่สามารถตามทันพัฒนาการทางเศรษฐกิจการค้าใหม่ ๆ ได้ ทั้งด้านเทคโนโลยี รูปแบบการทำธุรกิจสมัยใหม่ วิธีการบริโภค/การทำงานหลังจากโควิด-19 ผ่านไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าการค้าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

จึงเริ่มมีการหารือแบบ “มุ้งเล็ก” เพื่อให้มีเวทีถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในเรื่องที่ประเทศส่วนใหญ่อาจยังไม่พร้อมเจรจา แต่ก็ไม่อยากให้ WTO ตกขบวนการค้าโลกที่กำลังเคลื่อนไปสู่ยุคใหม่ โดยแนวทางการหารือแบบนี้อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้มีการ update กฎเกณฑ์บางเรื่องก็เป็นได้ ซึ่งประเทศไทยจะพิจารณาการเข้าร่วมหารือโดยพิจารณาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักดังที่ปฏิบัติมาโดยตลอด