2 บิ๊กชิง’ตลาดกลางข้าวสาร’ ‘กลุ่มเสี่ยเจริญ’ยื่นประมูลแข่งตลาดไท

เครือ TCC ส่ง “ตลาดต่อยอด” ท้าชน “ตลาดไท” ชิงดำ “ตลาดกลางข้าวสาร” แห่งแรกในประเทศไทย ด้าน “มาบุญครอง” ถอดใจเตรียมลงทุนเอง กรมการค้าภายในเตรียมให้เอกชนแสดงวิสัยทัศน์ 20 ก.ค.นี้ คาดตั้งสำเร็จปี’61

นางสาวสุทัศนีย์ ราชเรืองระบิน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า หลังจากกรมการค้าภายในออกประกาศหลักเกณฑ์การส่งเสริมการจัดตั้งตลาดกลางข้าวสารสู่มาตรฐานสากล เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมสมัคร ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 จนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 ปรากฏว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมสมัคร 3 ราย โดยหลังจากนี้ กรมจะให้ผู้ประกอบการแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะทำงาน ซึ่งมีนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธานในวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 และจะทราบผลการพิจารณาดำเนินการ ภายใต้โครงการดังกล่าวในวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 และจะเชิญผู้ชนะเข้ามาทำสัญญาในการดำเนินการและรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

“สำหรับขั้นตอนรายละเอียดต่าง ๆ ภายหลังการทำสัญญานั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะทำงาน ซึ่งต้องดำเนินการภายหลังการพิจารณาผู้ที่ผ่านคุณสมบัติและแสดงวิสัยทัศน์ไปแล้ว”

อย่างไรก็ดี การแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะทำงาน เบื้องต้นผู้ประกอบการจะต้องนำเสนอแผนงานโครงการ แนวคิดในการจัดตั้งตลาดกลางข้าวสาร ที่มีการให้บริการในพื้นที่ที่เดียวตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งขึ้น รวมถึงแผนการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและประโยชน์ต่อทุกฝ่าย การจัดสรรพื้นที่ของตลาดกลางข้าวสาร โดยการเชื่อมโยงผู้ซื้อ ผู้ขายผ่านช่องทางต่าง ๆ เป็นต้น โดยตลาดดังกล่าวต้องสามารถเป็นศูนย์กลางการซื้อขายข้าวสารและผลิตภัณฑ์จากข้าว ได้ในอนาคตและยั่งยืน ตามแผนคาดหวังจะสามารถตั้งตลาดกลางได้ในปี 2561

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ภาคเอกชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจัดทำตลาดกลางข้าวสารแห่งแรกของประเทศไทยมี 3 ราย แต่ผ่านคุณสมบัติเพียง 2 ราย คือ บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ หรือตลาดไท เสนอพื้นที่ 450 ไร่ จ.ปทุมธานี ขณะที่อีกรายคือ ตลาดต่อยอด ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท TCC Land Asset World ในเครือ TCC ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างเฟสแรกตั้งอยู่ในตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ประมาณ 160 ไร่ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2561 ขณะที่อีกราย คือ บริษัทจากสุพรรณ ซึ่งเอกสารไม่ครบจึงไม่ผ่านการตรวจสอบ ส่วนผู้ประกอบการที่เคยมีข่าวว่าจะเข้าร่วมโครงการก่อนหน้านี้อีก 2 ราย คือ กลุ่มข้าวมาบุญครอง และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการ

เดิมกรมการค้าภายในกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งตลาดกลางข้าวสาร ให้เอกชนที่เป็นนิติบุคคล/บจ./บลจ.ที่จดทะเบียนในประเทศไทย และได้รับการยอมรับมาไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยเอกชนผู้ผ่านการคัดเลือกจะต้องลงทุนเองทั้งหมด ทั้งค่าจัดหาพื้นที่ ก่อสร้างและค่าบริหารจัดการ ส่วนภาครัฐจะเข้าไปสนับสนุนเรื่องครุภัณฑ์และอุปกรณ์ และระบบฐานข้อมูล การทำประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการตลาดเชื่อมโยงผู้ซื้อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยตลาดนี้จะต้องสามารถตกลงซื้อขายข้าวสารทุกประเภท ทั้งในรูปแบบตลาดจริงและออนไลน์ เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลข่าวสารด้านการตลาดและราคาข้าวสาร

พร้อมทั้งจัดให้มีพื้นที่ดำเนินการและให้บริการพื้นที่จำหน่ายสินค้าไม่น้อยกว่า 1,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น โซนให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน โรงสีผู้ประกอบการค้าข้าวถุง โรงงานแปรรูปสินค้าจากข้าวสาร สินค้ากลุ่มอินทรีย์ และพื้นที่ให้คำปรึกษาด้านการตลาดแก่ผู้เกี่ยวข้อง, พื้นที่ห้องประชุมหรือห้องเจรจาการค้าขนาด 150 ตารางเมตร, พื้นที่สำนักงาน 100 ตารางเมตร พื้นที่โถงทางเดิน 100 ตารางเมตร นอกจากนี้ต้องจัดหาบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการตลาดแก่ผู้ซื้อผู้ขาย เช่น ระบบสาธารณูปโภค เทคโนโลยีสารสนเทศ บริการกำจัดขยะ บริการรักษาความปลอดภัย และต้องมีพื้นที่บริการตรวจสอบคุณภาพสินค้าแบบ One Stop Service ตามมาตรฐานสากล

ด้านนายสมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เดิมมีแนวคิดจะเข้าร่วมโครงการจัดทำตลาดกลางข้าวสาร แต่ภายหลังจากการพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร บริษัทตัดสินใจว่าไม่ร่วมโครงการ แต่บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และลงทุนพัฒนาพื้นที่ท่าเรือและคลังสินค้าเดิมให้เป็นตลาดลักษณะเดียวกับตลาดขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ในรูปแบบมารีน่า