คิงส์เกตขอตั้ง อนุญาโตตุลาการ บีบไทยจ่ายชดเชย 1,400 ล้านเหรียญ

ในที่สุด บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด เจ้าของเหมืองแร่ทองคำชาตรีในนาม บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เนื้อที่ 1,549 ไร่ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ และ 2,176ไร่ ในจังหวัดพิจิตร ก็ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาข้อพิพาทกับรัฐบาลไทย ด้วยการขอตั้ง “คณะอนุญาโตตุลาการ” ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement หรือTAFTA) เพื่อขอ “ชดเชย” ความเสียหายจากการสั่งปิดเหมืองทองของรัฐบาลไทย

โดย นายรอส สมิธ-เคิร์ก ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียว่า ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่กับรัฐบาลไทยแล้ว แต่ไม่สามารถหาข้อยุติกรณีเหมืองแร่ทองคำชาตรี ถูกสั่งระงับการประกอบกิจการ “โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

ในประเด็นนี้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งเป็นบริษัทลูกของคิงส์เกตฯ ตั้งขึ้นภายใต้ TAFTA อธิบายมาตลอดว่า รัฐบาลไทย (คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองทองคำของบริษัทอัคราฯ) ไม่สามารถระบุได้ว่า “โลหะหนักและสารหนูที่ตรวจพบในปริมาณที่สูงจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนนั้น เกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ”

ส่งผลให้การออกคำสั่งที่ 72/2559 อาศัยอำนาจตาม ม. 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 มีคำสั่งให้ “ระงับ” การอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองทองคำ การต่ออายุประทานบัตร การต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ การประกอบการเหมืองแร่ทองคำหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ทองคำ ต้องยุติลงอย่างสิ้นเชิงหลังวันที่ 1 มกราคม 2560 นั้น

เป็นสิ่งที่บริษัทคิงส์เกตฯ “ยอมรับไม่ได้” เนื่องจากประทานบัตรของบริษัทอัคราฯ มีอายุจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 และเดือนกรกฎาคม 2571 หรืออีก 11 ปี โดยบริษัทเห็นว่า การได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำและโรงโลหกรรมแร่ เป็นไปอย่างถูกต้องตามเงื่อนไขของรัฐบาลไทย (พ.ร.บ.แร่) มาตั้งแต่ต้น ประกอบกับบริษัทยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และไม่ได้กระทำผิดตามเงื่อนไขการได้รับประทานบัตร เนื่องจากไม่มีข้อพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้ว่า โลหะหนักและสารหนูที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่นั้นมาจากการทำเหมืองหรือไม่

Advertisment

อย่างไรก็ตาม บริษัทคิงส์เกตฯได้เปิดการเจรจากับรัฐบาลไทยภายใต้ คณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาท มาแล้วถึง 2 รอบ หลังวันที่ 1 มกราคม 2560 “แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้” โดยบริษัทได้เรียกร้อง 1) หลักประกันในการที่บริษัทจะกลับเข้ามาประกอบการเหมืองแร่ทองคำใน “ระยะยาว” ต่อไป 2) การต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรม
3) การ “ชดเชย” ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกสั่งให้ “ระงับ” การทำเหมืองทองคำ

ในประเด็นเหล่านี้ดูเหมือนว่า การชดเชย “ความเสียหาย” ที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่สามารถตกลงกันได้มากที่สุด โดยประเด็นนี้มองได้ 2 นัย คือ 1) บริษัทอัคราฯสามารถกลับมาดำเนินการทำเหมืองได้อีกครั้งในระยะยาว “ค่าเสียหาย” รัฐบาลไทยจะจ่ายให้อาจจะ “ไม่มากนัก” เพราะบริษัทเพิ่งหยุดทำเหมืองไปได้ยังไม่ถึง 1 ปี กับ 2) บริษัทคิงส์เกตฯในฐานะบริษัทแม่ ไม่ต้องการลงทุนทำเหมืองทองคำชาตรีในประเทศไทยต่อไปอีกแล้ว จากความไม่มีหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติของรัฐบาลไทยที่เพียงอ้างถ้อยคำแค่ “เพื่อประโยชน์ของสังคมและส่วนรวม และแก้ปัญหาความแตกแยกของประชาชนในชุมชน” ก็สามารถปิดเหมืองทองคำที่บริษัทลงทุนไปแล้วเป็นจำนวนมากได้

และยิ่งบริษัทคิงส์เกตฯตัดสินใจขอใช้กระบวนการตัดสินข้อพิพาท ด้วยการตั้ง “คณะอนุญาโตตุลาการ” ขึ้นมาแล้ว ยิ่งพิสูจน์การให้ “น้ำหนัก” ในเรื่องการขอชดเชย “ค่าเสียหาย” จำนวนมหาศาล จากการปิดเหมืองเป็นการถาวร หรือ “เลิกลงทุน” ทำเหมืองทองคำในประเทศไทยมากกว่า

ค่าเสียหายที่คิงส์เกตฯ จะเรียกร้องจากรัฐบาลไทยในครั้งนี้ หากคำนวณจากรายได้และยอดขายทองคำในแต่ละปีของบริษัทจำนวน 6,000 ล้านบาท บวกกับระยะเวลาประทานบัตรที่เหลืออยู่อีก 11 ปี และจำนวนแร่ทองคำที่ยังคงฝังอยู่ใต้ดินอีกไม่ต่ำกว่า 40 ตันแล้ว ประมาณการคร่าว ๆ ตัวเลขค่าเสียหาย “อาจจะ” สูงเป็น 2 เท่าของการเจรจาสองรอบแรก (เดิม 700 ล้านเหรียญสหรัฐ) เป็น 1,400 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 46,200 ล้านบาท (ใกล้เคียงกับยอดขายทองคำในแต่ละปี+จำนวนแร่ที่ยังเหลืออยู่+ระยะเวลาประทานบัตรประมาณ 48,000 ล้านบาท)

Advertisment

ปัญหาที่จะตามมาในอนาคต คือ หาก”คิงส์เกตฯ” เป็นฝ่ายชนะคดีข้อพิพาทในคณะอนุญาโตตุลาการ แล้ว “ใคร” จะเป็นผู้รับผิดชอบการจ่ายรายการนี้ ?