กางแผนดันส่งออก “ค้าชายแดนมาเลเซีย” ตลาดเบอร์ 1

วรวรรณ วรรณวิล
วรวรรณ วรรณวิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
สัมภาษณ์พิเศษ

ตลาดมาเลเซียนับเป็นตลาดค้าชายแดนอันดับ 1 ของไทย แต่เมื่อเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การค้าชายแดนลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2563 ผลมาจากมาตรการที่เข้มงวดเพื่อดูแลและควบคุมการแพร่ระบาดในมาเลเซียส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ รวมไปถึงการค้าชายแดนก็ลดลง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายวรวรรณ วรรณวิล” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และโอกาสของการส่งออกไทย

สถานการณ์โควิดมาเลย์

จากการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน แห่งมาเลเซีย ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศแล้ว ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.-7 มิ.ย. 64 เพื่อพยายามควบคุมสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ยังคงมีความรุนแรงและเป็นการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อ

สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อมียอดสะสมแล้วกว่า 4 แสนราย ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบการระบาดของเชื้อโควิดกลายพันธุ์ “สายพันธุ์แอฟริกา” ในประเทศมาเลเซียด้วย ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้มีคำสั่งห้ามประชาชนเดินทางระหว่างรัฐ

รวมทั้งการเดินทางข้ามพื้นที่ภายในรัฐ ตลอดจนยังห้ามประชาชนมีกิจกรรมที่ต้องรวมกลุ่มกัน รวมถึงยังมีคำสั่งปิดสถานศึกษาทั่วประเทศ งดรับประทานอาหารในร้าน เว้นระยะห่าง ทว่าในส่วนของธุรกิจ ผู้ประกอบการค้าต่าง ๆ ยังคงอนุญาตให้เปิดทำการได้ต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้การดำเนินธุรกิจการให้บริการด้านการเงิน การขนส่งยังดำเนินการได้ แต่ประชาชนที่จับจ่ายซื้อสินค้าก็ระมัดระวังมากขึ้น การใช้บริการต่าง ๆ ก็ลดลง

“เห็นได้จากตอนนี้ร้านอาหารไทยที่เข้าไปลงทุนในมาเลเซียต่างก็ได้รับผลกระทบ รายได้ลดลง แม้การซื้ออาหารสามารถสั่งซื้อกลับบ้านได้ ในทางกลับกัน การสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ในมาเลเซียเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่องทางที่นิยม เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ ฟู้ดแพนด้า สินค้าที่นิยมซื้อ อาหาร ของใช้ อุปกรณ์ออกกำลังกาย เป็นต้น”

เดินทางข้ามแดนสะดุด

การค้าชายแดนปัจจุบันยังสามารถดำเนินการซื้อ-ขาย ขนส่งสินค้าได้ แต่การเดินทางเพื่อเข้ามาซื้อสินค้าในประเทศไทยเพื่อนำไปขายในมาเลเซียนั้นไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งอดีตคนมาเลเซียมักจะนิยมเดินทางเข้ามาประเทศไทย เพื่อหาซื้อสินค้าเข้าไปขายเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ปัจจุบันการค้า-ขายในรูปแบบดังกล่าวดำเนินการไม่ได้ เพราะคนยังไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางข้ามฝั่งได้ ยกเว้นกรณีการขนส่งสินค้า และตรงชายแดนก็มีความเข้มงวดมาก

อย่างไรก็ตามการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของการค้าชายแดน โดยไตรมาส 1 ของปี 2564 (มกราคม-มีนาคม) ไทยส่งออกสินค้าไปมาเลเซีย มีมูลค่า 145,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.74% สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปตลาดมาเลเซีย ได้แก่ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ และรถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น

กังวลสินค้าไทยส่งออกลำบาก

ปัจจุบันทาง สคต.มาเลเซียได้ติดตามอุปสรรคการส่งออกสินค้าไทยไปมาเลเซียต่อเนื่อง พร้อมหาแนวทางแก้ไขเพื่อลดอุปสรรค หวังให้การส่งออกสะดวกมากขึ้น โดยยังพบว่าการส่งออกสินค้าผักผลไม้สด ยังติดปัญหาเรื่องสารตกค้าง ซึ่งมาเลเซียมีแนวโน้มที่จะเข้มงวดในเรื่องของสารตกค้างจากประเทศไทย หากสินค้าไทยยังไม่มีการแก้ไขในเรื่องนี้

เบื้องต้น สคต.มาเลเซีย ได้ทำหนังสือให้กับทางสมาคมที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ ติดตามเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ไปกับผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกให้ปรับปรุงสินค้าให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะเรื่องสารตกค้างในกลุ่มสินค้าผักผลไม้สดที่ส่งออกไปมาเลเซีย หากมีการเข้มงวดกับสินค้าไทยมากขึ้น โอกาสการส่งออกสินค้าก็จะลดลง

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจมาตรฐานโรงงาน ฟาร์ม ในกลุ่มสัตว์เลี้ยง เช่น เนื้อไก่ นม ที่ส่งออกไปมาเลเซีย ซึ่งจะส่งออกไปได้ต้องผ่านการรับรองจากมาเลเซียก่อน ปัจจุบันจากปัญหาเรื่องของการแพร่ระบาด ทำให้การตรวจเพื่อรับรองมาตรฐานโรงงาน ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ไม่สามารถดำเนินการได้

ทาง สคต.จึงได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ โดยสามารถหาตัวแทน บริษัท หน่วยงานที่เชื่อถือได้เข้ามาตรวจสอบได้หรือไม่ เพื่อให้โรงงานที่ไทยสามารถได้รับการรับรองเพื่อการส่งออกต่อไป

ชู 2 กลยุทธ์

สคต.ใช้กลยุทธ์ Deepening and Widening Business Relations เพื่อเพิ่มยอดส่งออกสินค้าและบริการไทยในมาเลเซีย โดยแบ่งเป็น 1) เพิ่มมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มผู้ประกอบการที่นำเข้า กระจาย หรือจำหน่ายสินค้าไทยอยู่แล้ว โดยจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า และจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์แบบเฉพาะราย (customized online business matching) ให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ โดยเน้นแนะนำให้รู้จักและทดลองนำเข้าสินค้าไทยใหม่ ๆ

2) ขยายเครือข่ายทั้งผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้ามาเลเซีย (widening) เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการจับคู่ธุรกิจ อันจะนำมาซึ่งการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทย

เสริมกิจกรรมดันส่งออก

ขณะนี้ได้จัดกิจกรรมแบบ B to B จับคู่และเจรจาธุรกิจผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้ามาเลเซีย เช่น

1.ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สคต.จัด COBM (Customized Online Business Matching-COBM) ให้กับผู้นำเข้ามาเลเซียที่ต้องการนำเข้าผลไม้ไทย และเปิดเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย ผลจากการจัด COBM ครั้งแรก ได้มูลค่าสั่งซื้อทันที 4 ล้านบาท และยืนยันคำสั่งซื้อและส่งมอบภายใน 1 ปี อีก 6.5 ล้านบาท รวมมูลค่าการซื้อขาย 10.5 ล้านบาท

การจัด COBM เป้าหมาย สคต.มีกำหนดจัด COBM เดือนละ 1 ครั้ง อีกครั้งจัดในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะเป็นสินค้าผลไม้ โดยจะจัดตามความต้องการของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดแปลงใหญ่ของไทย เพื่อหาผู้นำเข้าห้างค้าปลีก/ส่งมาเลเซียมา (แย่ง) ซื้อมังคุดไทย

2.Hybrid Instore Promotion เป็นกิจกรรมแบบ B to B to C เน้นเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทย (B) ส่งออกสินค้ามายังห้างค้าปลีก/ส่ง และแพลตฟอร์มออนไลน์ (B) เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในมาเลเซีย (C) ผ่านกิจกรรม แคมเปญ และโปรโมชั่นต่าง ๆ สคต.จะจัดครั้งแรกร่วมกับ AEON ในวันที่ 20 พ.ค.-16 มิ.ย. ชื่องาน Sawasdee Thai Fair : Bring Thailand to You ซึ่งจะครอบคลุมจำนวนห้างมากที่สุดกว่า 50 แห่ง และยาวนานที่สุดถึง 28 วัน และจะจัดใน online-shopping platform ของ AEON นับว่าเป็นงานที่ใหญ่ที่สุด ภายใต้สถานการณ์ที่ท้าทายที่สุด เพราะสวนกระแสโควิด

3.Matching with the Elites เป็นการนำร่องการจัดกิจกรรมในลักษณะงานแสดงสินค้าผ่านออนไลน์ (mirror to mirror) ควบคู่กับการจับคู่ธุรกิจแบบ exclusive

โดยเชื่อว่ากิจกรรมต่าง ๆ จะทำให้การส่งออกของไทยไปมาเลเซียในปีนี้โตขึ้น