สุพัฒนพงษ์ ชี้ 4 สัญญาณเศรษฐกิจไทยฟื้น

เงินบาท-เศรษฐกิจไทย

สุพัฒนพงษ์ ชี้ 4 สัญญาณเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น จีดีพีติดลบน้อยลง-ตัวเลขส่งออกสูงขึ้น-ลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในรอบ 4 ไตรมาส-อันดับความน่าเชื่อถือดีขึ้น แย้มคลอดแพ็กเกจเสริมสภาพคล่อง-รักษาการจ้างงาน แจงงบปี 65 กระทรวงพลังงานอู้ฟู่ สวนทางกระทรวงอื่นถูกตัดเหี้ยน

วันที่ 2 มิถุนายน 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานกล่าวว่า ถึงแม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่มีสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่น่าสนใจ โดย 4 สัญญาณบ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19

1.ตัวเลขเศรษฐกิจติดลบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน แต่พบว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบอยู่ที่ 2.6% ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขติดลบที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะติดลบมากกว่านี้ดังที่หลายสำนักได้คาดการณ์ไว้

2.การส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น ในไตรมาส 1 มีสัญญาณบวกของราคาสินค้าเกษตรซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของประเทศไทย และเห็นได้ชัดเจนขึ้นในเดือนเมษายน เมื่อพบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเมษายนเมื่อปีที่ผ่านมา

3.มีการขยายตัวด้านการลงทุนของภาคเอกชน ประเด็นที่น่าสนใจคือมีการขยายตัวของภาคเอกชนซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบ 4 ไตรมาสที่มีการระบาดของโควิด-19 แม้จะมีอัตราการขยายตัวไม่มาก แต่นับเป็นสัญญาณที่ดี โดยพบว่ามีการนำเข้าสินค้าทุนสูงขึ้น แสดงให้เห็นถึงการลงทุนด้านเครื่องจักรต่างๆ ที่จะช่วยเสริมการผลิตของประเทศไทยในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาส 1 ของปีนี้ ซึ่งเติบโตมากกว่าในไตรมาส 1 ของปีที่แล้วถึง 80%

4.การจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของไทยยังอยู่ในสถานะที่ดี จากข้อมูลเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 พบว่าประเทศไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น อยู่ที่ราว 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนับเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน สถาบันการเงินในประเทศทั้งธนาคารของรัฐและธนาคารพาณิชย์อยู่ในสถานะที่เข้มแข็ง โดยหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในไตรมาส 1 อยู่ที่ 3.1% มีการตั้งสำรองสูงทั้งยังมีการตั้งสำรองเพิ่มเติม และอัตราส่วนของกองทุนก็เกินมาตรฐานขั้นต่ำอยู่หลายเท่าตัว

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า นอกจากสัญญาณบวกทางด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลยังร่วมงานกับทุกภาคส่วนในการออกมาตรการที่หลากหลาย เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ควบคู่กันไป ทั้งมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ ลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ลดเงินสมทบประกันสังคม เลื่อนการชำระภาษี ลดอัตราดอกเบี้ย เลื่อนการชำระเงินต้นของสถาบันการเงินต่างๆ รวมถึงการที่แรงงานในมาตรา 33 ที่โดนหยุดกิจการจากการประกาศหรือคำสั่งของรัฐในกรณีเหตุสุดวิสัยต้องได้รับการชดเชย ฯลฯ

“นอกจากนี้ในภาพรวมรัฐบาลยังเตรียมมาตรการการรองรับสภาพคล่อง การรักษาการจ้างแรงงานสำหรับทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ มาตรการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ BSF ซึ่งออกเมื่อปีที่แล้วในจำนวนเงิน 400,000 ล้านบาท มาตรการสินเชื่อฉุกเฉินของธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู พักทรัพย์ พักหนี้ 350,000 ล้านบาท”

“การกระตุ้นการบริโภคและเยียวยาผ่านโครงการเราชนะ ซึ่งอนุมัติไปแล้ว 2 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 บาท และล่าสุด ครม. ได้อนุมัติเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละครึ่ง และโครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้ ทั้งหมดนี้หากรวมกับ พ.ร.ก. เงินกู้เพิ่มเติม 500,000 ล้านบาท จะทำให้มีมาตรการรองรับหรือเงินสำรองในการใช้ควบคุมดูแลผลกระทบและความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ได้อย่างทันท่วงที”

นายสุพัฒนพงษ์ยังกล่าวถึงเหตุผลงบประมาณกระทรวงพลังงานจึงสูงกว่าปีที่แล้วถึง 19% ในขณะที่งบประมาณของกระทรวงอื่นๆ ลดลง ว่า ขอชี้แจงว่าเนื่องจากมีการเพิ่มงบประมาณเฉพาะเรื่องเพื่อแก้ไขปัญหา 2 เรื่อง ดังนี้

1.งบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายการจ้างที่ปรึกษากฎหมายในการต่อสู้ข้อพิพาทกับคู่สัญญาสัมปทาน 2 ราย ซึ่งเป็นสัญญาตั้งแต่ปี 2515 เพื่อขอตีความเรื่องความรับผิดชอบของคู่สัญญาสัมปทานเมื่อหมดอายุสัมปทาน

ทั้งนี้ ตามสัญญามีการใช้เกณฑ์อนุญาโตตุลาการระบบสากล จึงมีความจำเป็นต้องจ้างทนายหรือนักกฎหมายในระดับสากลมาช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยให้ได้มากที่สุด

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า 2.งบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายชดเชยให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ได้เข้าช่วยเหลือเกษตรกรในปี 2561 เนื่องจากตอนนั้นเกษตรกรได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ลดลงเป็นอย่างมาก จึงต้องเข้าไปช่วยพยุงและรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบไว้ ประเด็นนี้เป็นไปตามมติของ ครม.

ทั้งนี้ หากหักลบงบประมาณเฉพาะเรื่อง 2 รายการนี้ออกจากงบประมาณของกระทรวงพลังงานในปี 2565 แล้ว จะทำให้งบประมาณของกระทรวงลดลงเหลือ 2,031 ล้านบาท ซึ่งลดลงกว่าปีที่แล้วกว่า 11% ถือว่าลดลงเป็นอันดับต้นๆ ของกระทรวงทั้งหมด

“อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานยังคงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินงานตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ในแผนงบประมาณปี 2565 ให้ได้อย่างครบถ้วนต่อไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ “ค่าใช้จ่ายที่ปรึกษากฎหมาย” ดังกล่าว บรรจุอยู่ในรายละเอียด “โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC)” จำนวน 188,134,000 บาท โดยเป็น “ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” จำนวน 185,181,600 บาท

วัตถุประสงค์ “เพื่อดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (International Arbitration Proceedings) ตามข้อกำหนดในสัมปทานปิโตรเลียมข้อ 13 ด้วยความรอบคอบ รัดกุม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ” ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (2564-2565) วงเงินทั้งสิ้นของโครงการ 194,002,400 บาท

ขณะที่ “ค่าใช้จ่ายชดเชยราคาน้ำมันปาล์ม” ถูกจัดอยู่ในงบประมาณรายจ่ายปี 65 ในส่วนของ “งบเงินอุดหนุนทั่วไป” ในส่วนของ “เงินอุดหนุนการชดเชยส่วนต่างจากการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” จำนวน 500,527,500 บาท