ต้นทุนอ่วม ส.อ.ท. ชี้เทรนด์ราคา “อะลูมิเนียม” ขาขึ้นอีก 2 ปี

กระป๋องอะลูมิเนียม

ส.อ.ท.ชี้ราคาอะลูมิเนียมปรับขึ้น 50% มองแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง 2 ปีจากตลาดโลกฟื้นกระตุ้นความต้องการใช้วัตถุดิบผลิตกระป๋อง รถยนต์ เครื่องไฟฟ้า แผงโซลาร์เพิ่ม ส่วนจีนปิดโรงงานเหล็กฉุดการผลิต-สต๊อกหดต่ำสุดในรอบ 5 ปี เอกชนไทยอ่วมต้องปรับขึ้นราคาตามตลาดโลก

นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาอะลูมิเนียมปรับสูงขึ้นประมาณ 40-50% และมีแนวโน้มว่าราคาอะลูมิเนียมอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี จากตลาดโลกมีความต้องการอะลูมิเนียมเพิ่มประมาณ 61 ล้านตัน ซึ่งไม่นับรวมอะลูมิเนียมที่หมุนวนกลับมาใช้ใหม่ในระบบอีกประมาณ 40 ล้านตัน

โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นประเทศที่ใช้อะลูมิเนียม 37 ล้านตัน หรือประมาณ 60% ของตลาดโลก เริ่มมีความต้องการใช้อะลูมิเนียมเพิ่มขึ้นเกือบ 25% ขณะเดียวกันโรงงานผลิตอะลูมิเนียมต้นน้ำในจีนก็ต้องลดกำลังการผลิตลงตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดมลพิษทางอากาศให้เป็นศูนย์ภายในปี 2060 ส่งผลให้โรงงานที่ใช้พลังงานถ่านหินต้องทยอยปิดตัวลงจนถึงเดือนมิถุนายน จีนจึงเหลือสินค้าคงคลังไม่ถึง 400,000 ตัน ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี

ในส่วนของอเมริกามีความต้องการอะลูมิเนียมมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากต้องทำงานที่บ้าน (WFH) เพื่อหลีกเลี่ยงจากโควิด-19 ประกอบกับกระแสมุ่งเน้นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดมลพิษทางทะเลชัดเจนมาก ทำให้กระป๋องสำหรับเครื่องดื่มที่ทำมาจากอะลูมิเนียมเป็นที่ต้องการมากขึ้น แต่ด้วยเหตุที่สมัยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ใช้มาตรการ 232 จึงทำให้ราคาอะลูมิเนียมในอเมริกาเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สหภาพยุโรปก็มีความต้องการสูงขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกระป๋องเครื่องดื่ม หรือจากเทรนด์ลดมลพิษทางทะเล ปริมาณความต้องการ EV และอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เทรนด์โลกมุ่งเน้นไปสู่เป้าหมายการสร้างความยั่งยืน SDGs มีผลต่อปริมาณความต้องการอะลูมิเนียมสูงขึ้นในระยะยาว เพราะหลายประเทศหันมาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งใช้อะลูมิเนียมในการทำโซลาร์เซลล์ ทำให้ปริมาณการใช้อะลูมิเนียมในอนาคตจะเพิ่มขึ้น 10 เท่าใน 10 ปี หรือเพิ่มจาก 1 ล้านตันปี 2563 เป็น 4 ล้านตันในปี 2573

เช่นเดียวกับเทรนด์อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ปรับตัวมาเป็น EV มากขึ้น หลายประเทศเริ่มประกาศงดการจดทะเบียนรถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน เช่น อังกฤษประกาศเป็นปี 2040 เป็นต้น ปริมาณการใช้อะลูมิเนียมจะเพิ่มจาก 1 ล้านตันเมื่อปีที่แล้วเป็น 8 ล้านตันในปี 2030 นั่นหมายถึงความต้องการเพิ่มเป็น 8 เท่าอีก 10 ปีข้างหน้าเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้สถานการณ์จะเป็นอย่างไรยังขึ้นอยู่กับว่าโรงงานผลิตอะลูมิเนียมต้นน้ำจะเพิ่มกำลังการผลิตได้ทันต่อความต้องการหรือไม่ โดยปัจจุบันในมาเลเซีย รัสเซีย และอินเดียผลิตได้ประมาณ 800,000 ตัน ส่วนจีนอีกประมาณ 3.4 ล้านตัน และยังมีอีกส่วนที่มีแผนเริ่มการผลิตบางส่วนภายในปีนี้

ในส่วนของไทย มีความต้องการใช้อะลูมิเนียมแผ่น 350,000-400,000 ตันต่อปี ประมาณ 1% ของโลก แต่มีผู้ผลิตในประเทศ คือ บริษัทยูเอซีเจ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นสมาชิกในกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สามารถผลิตอะลูมิเนียมแผ่นได้ถึง 320,000 ตันต่อปี เพื่อป้อนอุตสาหกรรมกระป๋องอะลูมิเนียมภายในและส่งออกต่างประเทศ ส่วนอะลูมิเนียมเส้นที่ใช้ในการก่อสร้าง มีความต้องการใช้ 160,000-170,000 ตันต่อปี ประมาณ 0.7% ของโลก ทั้งนี้ไทยมีการใช้กำลังการผลิตภาพรวมอยู่ที่ 80%

“ตลาดอะลูมิเนียมเส้นในไทย ยังคงเป็นของผู้ผลิตภายในประเทศประมาณ 75-80% แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าจากประเทศจีนในราคาที่ถูกในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำให้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปในทุก ๆ ปี ผู้ผลิตเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจตามสถานการณ์ว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร ประกอบกับบ้านเราไม่ได้ผลิตต้นน้ำเอง”

“ดังนั้นราคาวัตถุดิบอิงตามกลไกตลาดโลก สมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมนี้จะป้อนให้ผู้ผลิตกระป๋อง วัสดุก่อสร้าง และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ก็จะขายอิงกับราคาวัตถุดิบ แต่สัญญาใหม่คงต้องคิดถึงต้นทุนวัตตุดิบที่เพิ่มขึ้นด้วย ในปัจจุบันทางสภาอุตสาหกรรมฯมีการผลักดันและได้รับการสนับสนุนเรื่องโครงการเมดอินไทยแลนด์ ซึ่งมีส่วนช่วยผู้ผลิตในประเทศไทยพอสมควร”

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อ ต้องการให้ภาครัฐเร่งจัดสรรวัคซีนให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นอันดับต้น ๆ เพื่อให้การผลิตสามารถเดินต่อได้โดยไม่กระทบมากนัก ช่วยรักษาการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจ