ปศุสัตว์ยันปลอด “อหิวาต์หมู” ใช้ไม้เด็ด 7 ข้อ ต้านเข้าไทย

REUTERS/Stringer ATTENTION EDITORS

“ปศุสัตว์” เร่งถกรัฐ-เอกชน เคาะ 7 มาตรการเข้มยืนสถานะไทยปลอดอหิวาต์แอฟริกันสุกร เตรียมประชุม “ปศุสัตว์จังหวัด” 7 มิ.ย.นี้ หลังผู้เลี้ยงรายย่อยตื่นข่าวลือเวียดนามเบรกนำเข้า เทขายหมู ทุบราคาหน้าฟาร์มร่วง กก.ละ 10 บาท สูญแล้ว 22,000 ล้าน คาดคลี่คลายวิกฤตปลายเดือนนี้

นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เป็นประธานการประชุม “รัฐร่วม-เอกชน ระดมสมองมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ในสถานการณ์ปัจจุบันครั้งที่ 2/2564 โดยกรมปศุสัตว์จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศไทยยังคงสถานะปลอดจากโรค ASF ต่อไป

พร้อมกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรค ASF ใน 7 ด้าน และในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ ตนจะประชุม VDO conference ร่วมกับปศุสัตว์ จังหวัดทุกจังหวัด เพื่อชี้แจงมาตรการและหลักเกณฑ์การเคลื่อนย้ายสุกรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับมาตรการ 7 ด้าน ประกอบด้วย

1.เร่งรัดติดตามการขึ้นทะเบียนผู้รวบรวมสุกรหรือพ่อค้าคนกลาง (broker) ในแต่ละจังหวัดให้เสร็จโดยเร็ว

2.ปรับปรุงมาตรการและหลักเกณฑ์การเคลื่อนย้ายให้ง่ายต่อการปฏิบัติ และให้มีประสิทธิภาพต่อการป้องกันโรค โดยผ่านคณะอนุกรรมการวิชาการ ให้ออกมาตรการโดยเร็วที่สุด

3.ชี้แจงมาตรการและหลักเกณฑ์การเคลื่อนย้ายสุกรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

4.กองสารวัตรและกักกันให้เข้มงวดการตรวจสอบสุกร และผลิตภัณฑ์สุกรที่จะส่งออกไปต่างประเทศ โดยให้ดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่าง ณ ด่านขาออก หากพบสัตว์ผิดปกติให้ดำเนินการตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดอย่างเข้มงวด

5.สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการพิจารณาการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกัน ASF

6.สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์รวบรวมและแจ้งรายชื่อโรงฆ่าสัตว์ที่สามารถรองรับการบริหารจัดการการดำเนินการลดความเสี่ยงต่อโรคภายในจังหวัด ส่งให้ปศุสัตว์จังหวัดดำเนินการ

และ 7.การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด หากพบการกระทำผิดแจ้งข้อมูลที่แอปพลิเคชั่น DLD 4.0 หรือสายตรงผู้บริหารกรมโดยตรง
สำหรับภาคเอกชนที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ สมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท เบทาโกร จำกัด และบริษัท ไทยฟู้ด กรุ๊ป จำกัด

ขณะที่ นสพ.ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ไทยยังคงสถานะปลอดโรค ASF เป็นไข่แดงเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ หากมีการระบาดของโรคนี้ในหมูไทยจะทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก ไทยจะถูกระงับการส่งออกเนื้อหมูชำแหละ เนื้อหมูแปรรูป ที่เคยส่งออกได้ปีละ 6,000 ล้านบาท และสูญเสียโอกาสการส่งออกหมูมีชีวิตปีละ 16,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังกระทบไปถึงธุรกิจอาหารสัตว์หากโรคระบาดประมาณ 50% จะเสียหายประมาณ 66,600 ล้านบาท ธุรกิจเวชภัณฑ์หายไปประมาณ 3,500 ล้านบาท

“ที่ผ่านมากรมได้มุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสุกรของประเทศ ทั้งมาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสุกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน อุตสาหกรรมการเลี้ยงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท ที่สำคัญยังช่วยสร้างโอกาสส่งออกเฉพาะปี 2563 ที่ผ่านมาไทยส่งออกสุกรมีชีวิตจำนวนมากกว่า 2.2 ล้านตัว”

“รวมถึงเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์สุกร มีปริมาณมากกว่า 54,000 ตัน มีมูลค่า 22,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 300% ซึ่งปีนี้คาดว่าจะสามารถส่งออกได้ตามเป้าใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา หากเกิดโรคนี้จะทำให้ภายในประเทศเกิดความตระหนกไม่กล้ากินหมู ราคาจะลดลง หากราคาลดลง 10 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เกษตรกรจะสูญเสียรายได้ 22,000 ล้านบาท/ปี”

ส่วนกรณีแจ้งว่าเวียดนามจะห้ามนำเข้าสุกรขุนมีชีวิตจากประเทศไทยมีผลวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป สาเหตุสืบเนื่องจากตรวจพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรนั้น ในประเด็นดังกล่าว กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับสุกรสลอตดังกล่าว พบว่า ได้มีสุ่มตรวจโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรทางห้องปฏิบัติการตามข้อกำหนดก่อนการส่งออกไปยังเวียดนามแต่ไม่พบเชื้ออหิวาต์แอฟริกัน (ASF) แต่อย่างไร

ซึ่งช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. การส่งออกหมูไปเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 3 แสนตัว แต่เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และความมั่นใจให้กับประเทศคู่ค้า กรมปศุสัตว์ได้สั่งชะลอการส่งออกสุกรมีชีวิตของฟาร์ม และบริษัทที่ประเทศเวียดนามแจ้งว่า ตรวจพบผลบวกดังกล่าวแล้วอยู่ระหว่างเร่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงทั้งหมด แล้วสรุปรายงานให้ทางประเทศเวียดนามรับทราบ

แหล่งข่าวผู้ผลิตสุกรกล่าวว่า จากสถานการณ์ความกังวลต่อโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมูที่จะมากระทบต่อการส่งออก ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงรายย่อยตื่นตระหนก จึงได้เร่งนำหมูมาขายก่อนที่น้ำหนักจะถึงเกณฑ์ ส่งผลให้ราคาหมูหน้าฟาร์มลดลง จาก กก.ละ 80 เหลือ 70 บาท อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้เลี้ยงรายย่อยอยู่ประมาณ 20% จึงคาดว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติภายใน 1 เดือน

“รายย่อยเขาพึ่งพารายได้จากการเลี้ยงหมู 100% พอตื่นข่าวทำให้เร่งเอาหมูที่มีน้ำหนักเพิ่งจะถึง 90 กก. ยังไม่ถึงเกณฑ์ 110-120 กก. ที่จะขายออกมาขายก่อน ราคาตลาดก็ร่วง ส่วนรายใหญ่ซึ่งโดยปกติเขาจะมีการเลี้ยงสัตว์อื่นด้วยไม่ได้พึ่งพาสินค้าหมู 100%”

“ฉะนั้นก็สามารถจะบริหารจัดการกระจายสลับสับเปลี่ยนไปขายสินค้าอื่นก่อนได้ พอรอจังหวะราคาปกติจึงนำหมูมาขายตามกลไกการตลาด ทำให้ผู้เลี้ยงรายใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงเท่ากับรายย่อย หากถามว่าจะให้ภาครัฐเข้าไปช่วยพยุงรายย่อยไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ตื่นเทขายหมูได้หรือไม่ตรงนี้คิดว่าทำไม่ได้ เพราะตอนนี้งบประมาณในส่วนนี้หมด ส่วนงบประมาณปีหน้าก็ถูกตัด ฉะนั้นการดูแลอุตสาหกรรมทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกัน ถ้าส่งออกไม่ได้จะกระทบตลาดทั้งหมด”