ไล่บี้ 6 หมื่นโรงงานคุมเข้มโควิด สกัดโดมิโนเอฟเฟ็กต์ “ส่งออก”

export-ส่งออก-pcc

หวั่นโดมิโนคลัสเตอร์โรงงานลามไม่หยุด กระทรวงอุตฯไล่บี้ 6 หมื่นโรงงานปฏิบัติตามกฎเข้ม ประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid Plus อย่างน้อย 2 สัปดาห์/ครั้ง ไม่ผ่านเกณฑ์สั่งอุตสาหกรรมจังหวัดประกบ “สุริยะ” นัดถก “สุชาติ” เร่งแผนเยียวยาแรงงานภาคอุตสาหกรรม “ส.ส่งออกไก่-อาหาร-การ์เมนต์” กัดฟันปรับไลน์ผลิตเร่งส่งมอบสินค้าทันออร์เดอร์ ดันยอดส่งออกโตตามเป้า 4% ด้าน กกร.จ่อทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจหลังปูพรมฉีดวัคซีน

โควิดระลอก 3 ที่แพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 9 จังหวัด นอกจากจะเป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ยอดผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับที่สูงหลักร้อยหลักพันคนแล้ว ยังกระทบฐานการผลิตสินค้าส่งออกระดับโลกทั้งโรงงานแปรรูปไก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง เครื่องใช้ไฟฟ้า ถุงมือยาง ฯลฯ

ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการผลิตและส่งมอบสินค้า เนื่องจากบางโรงงานแผนการผลิตอาจสะดุดล่าช้ากระทบ “การส่งออก” ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมหารือกับกระทรวงแรงงานวางมาตรการควบคุมสกัดโควิดเข้มข้น ขณะที่ผู้ประกอบการเอกชนก็ตื่นตัววางมาตรการป้องกัน

สแกน 6 หมื่นโรงงาน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ทำหนังสือขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทุกโรงงาน ให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในสถานประกอบกิจการโรงงาน

ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้สถานประกอบการ โดยให้โรงงานประเมินตนเองผ่าน Platform Online Thai Stop COVID Plus อย่างน้อย 2 สัปดาห์ต่อครั้ง สำหรับโรงงานที่มีคนงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 3,304 โรงงาน และให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิ.ย. 2564

ส่วนโรงงานขนาดกลางและเล็กเกือบ 60,000 โรงงาน ให้ประเมินโรงงานให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย. 2564 พร้อมทั้งให้พนักงานประเมินตนเองผ่าน Thai Save Thai ก่อนเข้าปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันผู้มีความเสี่ยงไม่ให้เข้ามาปฏิบัติงาน และแพร่เชื้อในสถานประกอบการ

ขณะเดียวกันภายในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีกำหนดจะประชุมหารือร่วมกับ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อวางมาตรการป้องกันการควบคุมโรคสำหรับสถานประกอบการโรงงาน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือแรงงานภาคอุตสาหกรรม

ไม่ผ่านเกณฑ์สั่ง “สอจ.” ประกบ

“หากโรงงานใดไม่ผ่านเกณฑ์เช็กลิสต์ อุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) จะลงพื้นที่ตรวจด้วยอีกทาง เพื่อเข้าไปแนะนำแนวทางปฏิบัติ และหากพบพนักงานติดเชื้อก็ต้องดำเนินการตรวจหาเชื้อเชิงรุก แยกผู้ติดเชื้อไปรักษา ส่วนผู้ใกล้ชิดต้องกักตัว ส่วนโรงงานใดพบมีการติดเชื้อมากกว่า 10% โรงงานต้องหาที่พักให้อยู่ในสถานที่ที่กำหนด หาที่พักให้พนักงานอยู่ภายในโรงงาน

จนกว่าการติดเชื้อจะกลับสู่ปกติ และปิดโรงงานเพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้ออกสู่สังคมภายนอก ทั้งหมดนี้คือแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้ทุกอย่างลุกลาม ตอนนี้โรงงานที่เคยมีผู้ติดเชื้อบางแห่งเริ่มกลับมาเปิดได้แล้ว เพราะเคลียร์พื้นที่ เคลียร์คนติดเชื้อส่งรักษาหมดแล้ว”

โรงงานหวั่นลามเป็นโดมิโน

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้พบว่าโรงงานที่มีพนักงานติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และโรงงานที่ประสบปัญหาได้หยุดการผลิตเป็นเวลา 14 วัน ความเสียหายจะอยู่ในช่วงที่หยุด 14 วัน กระทบการส่งมอบสินค้าบ้าง แต่ไม่มาก ยังบริหารจัดการได้

เพราะช่วงนี้ยังเป็น low season การส่งออก สามารถโยกไปผลิตที่โรงงานอื่นแทน หรืออาจขอเลื่อน shipment ไปนิดหน่อย สัดส่วนความเสียหายไม่ถึง 5% และเมื่อหักกับการบริหารจัดการมาช่วย ตัวเลขอาจลดลงเหลือแค่ 1-2% ส่วนผลกระทบในภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มคิดเป็นสัดส่วนน้อยมาก

“กลุ่มเครื่องนุ่งห่มในปีนี้ยังคงตั้งเป้าหมายว่า การส่งออกจะขยายตัว 10-15% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เพราะความเสียหายไม่สูง แต่เน้นให้สมาชิกช่วยกับดูแล ควบคุม ทำ good factory practice ควบคุมไม่ให้มีเกิด cluster ใหม่ ๆ จากโรงงานเสื้อผ้าอีก ไม่ควรให้เกิดซ้ำ หรือเป็น domino ต่ออีก ซึ่งการทำการควบคุมตนเองของโรงงานก็ดำเนินการตามประกาศของกรมโรงงานฯ”

รง.ไก่ดันยอดส่งออกโต 1%

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย กล่าวว่า ในส่วนของโรงงานไก่ แม้บางโรงงานที่พบพนักงานติดเชื้อโควิดจะหยุดการผลิตชั่วคราว แต่ไม่กระทบการส่งออกไก่ เนื่องจากแต่ละบริษัทมีมาตรการคัดกรอง เตรียมการรองรับเรื่องการผลิตตามมาตรฐาน และดูแลพนักงานมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีมาตรการคุมเข้มของภาครัฐ

สำหรับโรงงานที่พบผู้ติดเชื้อและต้องปิดการผลิต “น่าจะใช้เวลาไม่นาน” ในการคลี่คลายสถานการณ์ และสามารถโยกไปผลิตในโรงงานอื่นของบริษัท เพื่อส่งสินค้าตามออร์เดอร์ได้ตามปกติ ดังนั้น ภาพรวมการส่งออกไก่ปีนี้ยังขยายตัวได้ 1% จากปริมาณ 9.38 แสนตัน เป็น 9.50 แสนตัน

ประเด็นสำคัญคือไทยต้องกระจายการฉีดวัคซีนให้แรงงานในโรงงานเร็วที่สุด เท่าที่ทราบตอนนี้หลายบริษัทอยู่ระหว่างติดต่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อขอใช้วัคซีนซิโนฟาร์ม

“บริษัทส่งออกไก่ที่ปิดไม่ได้มีโรงงานแห่งเดียวจึงสามารถโยกการผลิตทดแทนกันได้ และออร์เดอร์ไก่จะทยอยเข้ามาไปจนถึงไตรมาส 3-ต้นไตรมาส 4 เพื่อใช้ในช่วงเทศกาล มีแนวโน้มว่าตลาดญี่ปุ่นจะเติบโต 11% จากความต้องการรองรับการจัดโอลิมปิก และคู่แข่งอย่างบราซิลมีปัญหาโควิด ไม่สามารถส่งออกมายังตลาดญี่ปุ่นได้ ผู้นำเข้าจึงหันมาสั่งซื้อจากไทยแทน

เช่นเดียวกับอียูที่ให้โควตาไทยเท่าเดิม จะมีเพียงตลาดจีนที่ยังมีปัญหาจากการตรวจสอบที่เข้มงวด ขั้นตอนยุ่งยากมากขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี ป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด แต่ยังไม่มีการตรวจสอบพบในไทย ปัญหาการผลิตไก่ขณะนี้ยังคงเป็นเรื่องขาดแคลนแรงงาน ทำให้ยังรับออร์เดอร์ได้ไม่มากเท่าที่ควร”

กกร.รื้อตัวเลขเศรษฐกิจ

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันที่ 9 มิ.ย. จะหารือและประเมินตัวเลขเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งหลังการปูพรมฉีดวัคซีน และ ส.อ.ท.จะเสนอเรื่องที่ยังเป็นอุปสรรคต่อภาคอุตสาหกรรม ยอมรับว่าผลจาก 17 โรงงานมีพนักงานติดโควิด ต้องหยุดการผลิตในบางเซ็กชั่น กระทบต่อการผลิตสินค้า และดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.จะพยายามสรรหาวัคซีนให้ภาคอุตสาหกรรมเร็วขึ้น โดยจะฉีดในพื้นที่กรุงเทพฯก่อน ส่วนเรื่องวัคซีนทางเลือก เราได้จากสถาบันจุฬาภรณ์ 3 แสนโดส วันนี้ยังอยู่ระหว่างประสานงาน และเตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว นอกจากนี้ ส.อ.ท.ได้จัดทำคู่มือความพร้อมป้องกันโควิดให้กับทุกโรงงานด้วย

ฉีดวัคซีนคือคำตอบ

ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. กล่าวว่า ที่มองว่าฐานการผลิตใหญ่ของโลกในไทยหลายโรงงานติดเชื้อโควิดจะกระทบส่งออกนั้น คิดว่าไม่รุนแรงถึงขนาดนั้น โดยภาพรวมตัวเลขการส่งออกยังคงตามเป้าหมายเดิม 4% แต่ก็จำเป็นต้องระวังไว้ก่อน เพราะตอนนี้การแพร่ระบาดกระจายออกไปทั่วประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าแต่ละโรงงานจะพบพนักงานติดเชื้อมากหรือน้อย

กรณีที่ติดเชื้อจำนวนมากต้องหยุดไลน์ผลิตบางส่วนทำความสะอาด ตั้งแต่ 1-3 ไปจนถึง 14 วัน และต้องเร่งตรวจสอบเชิงรุกควบคู่กันด้วย กรณีหลังอาจกระทบกับการส่งมอบสินค้าบ้าง ซึ่งเดิมสินค้าหลายชนิดได้รับผลกระทบจากปัจจัยเรื่องวัตถุดิบขาดแคลน เช่น ไมโครชิป เหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ยานยนต์ ชิ้นส่วน หรืออาหารกระป๋อง และยังมีปัจจัยหลายอย่างที่น่ากังวล เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ค่าระวางเรือขึ้น

“อย่างไรก็ตาม การเร่งฉีดวัคซีนเป็นคำตอบสุดท้าย เพราะโรคนี้มีโอกาสระบาดได้ทุกเมื่อ ตอนนี้ต้องตรวจสอบตามแนวปฏิบัติของกระทรวงอุตสาหกรรม และต้องติดตามใกล้ชิด และทำใจ ถ้าเจอก็ต้องหยุด ต้องตรวจเชิงรุก ต้องปรับตัว ต้องเตรียมโรงพยาบาลสนาม ตราบใดที่วัคซีนยังเข้าไม่ถึงทุกคน”

ด้านแหล่งข่าวจากภาคอุตสาหกรรมกล่าวว่า เอกชนพร้อมดำเนินการตามมาตรการตรวจสอบโควิดของภาครัฐสั่ง แต่เอกชนต้องจ่าย รัฐไม่ได้จ่าย จะสั่งการแบบไหนก็ได้ ให้ตรวจสอบถี่ขนาดไหนก็ได้ แบบนี้เอกชนแย่

12 โรงงานอ่วมโควิด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการสำรวจสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.ถึงปัจจุบัน พบการแพร่ระบาดในโรงงานทั้งหมด 12 แห่ง ใน 9 จังหวัด ฐานการผลิตส่งออกหลักของประเทศ

ขณะนี้กลับมาเปิดดำเนินการตามปกติได้แล้ว 4 แห่ง สำหรับ 12 โรงงานที่พบการติดเชื้อภายในโรงงาน แยกเป็น กลุ่มธุรกิจไก่ส่งออก 3 โรงงาน คือ 1.บจ.ไทสัน โพลทรี่ (ไทยแลนด์) จ.ปทุมธานี พนักงานติดเชื้อ 335 ราย จากทั้งหมด 2,100 คน สั่งปิดโรงงาน 14 วัน บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จ.สระบุรี พนักงานติดเชื้อ 538 ราย จากทั้งหมด 5,850 ราย ปิดสายการผลิตชั่วคราว และล่าสุด บจ.สุรชัย โพลทรี่ ฟู้ดส์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ พนักงานติดเชื้อ 99 ราย จากทั้งหมด 285 คน

ส่วนกลุ่มอาหารสำเร็จรูป 3 โรงงาน คือ บจ.โดล ไทยแลนด์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรงงานแปรรูปสับปะรดรายใหญ่ของโลก พนักงานติดเชื้อ 136 ราย จากทั้งหมด 4,016 คน สั่งปิดไลน์การผลิตชั่วคราว เช่นเดียวกับ บจ.ควอลิตี้ ไพน์แอปเปิ้ล โปรดักส์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ พนักงานติดเชื้อ 290 ราย จากทั้งหมด 593 ราย ปัจจุบันกลับมาเปิดผลิต และล่าสุด บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จ.ราชบุรี พนักงานติดเชื้อ 28 ราย จากทั้งหมด 837 คน สั่งปิดโรงงาน 14 วัน

กลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ 2 โรงงาน คือ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จ.ตรัง และ จ.สุราษฎร์ธานี พนักงานติดเชื้อรวม  580 ราย จากทั้งหมด 3,556 คน ขณะนี้สาขาสุราษฎร์ธานีเปิดการผลิตแล้ว ส่วน บจ.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จ.เพชรบุรี พนักงานติดเชื้อ 4,737 ราย จากทั้งหมด 20,000 คน มีการสั่งปิดชั่วคราว

และกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 3 โรงงาน คือ บจ.เซเลอเรส (ประเทศไทย) จ.ชลบุรี พนักงานติดเชื้อ 215 ราย จากทั้งหมด 355 ราย บจ.โอคุมุระ เมทัลส์ (ประเทศไทย) จ.ชลบุรี ผู้ผลิตอุปกรณ์และอะไหล่แอร์ พนักงานติดเชื้อ 19 ราย จากพนักงาน 593 คน เและ บจ.นิโปร (ประเทศไทย) เป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์รายใหญ่ จ.พระนครศรีอยุธยา พนักงานติดเชื้อ 40 ราย จากทั้งหมด 5,000 คน มีการสั่งปิด 7 วัน