อมตะ คงเป้ายอดขาย 950 ไร่ ลุ้นรัฐคลายล็อกกักตัว 14  วัน ดึงนักลงทุนไตรมาส 4

อมตะ คอร์ปอเรชัน

“อมตะ” คาดยอดขายที่ดินปี 64 เป็นไปตามเป้าหมาย 950 ไร่ เตรียมรับอานิสงส์รัฐบาลปูพรมฉีดวัคซีน ตามเป้าหมาย 70% ของจำนวนประชากรได้สำเร็จ แนะรัฐคลายล็อกกักตัว 14  วันของนักธุรกิจในการเดินทางเข้าไทย เพื่อลดเวลาขั้นตอนติดต่อการค้า ลงทุน หวังเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุน ช่วงไฮซีซั่นปลายปีนี้

วันที่ 14 มิถุนายน 2564 นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า ขณะนี้บรรยากาศการลงทุนโดยภาพรวมน่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลได้มีการปูพรมเพื่อระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในเป้าหมาย 70% ของจำนวนประชากร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวหากเป็นไปตามแผน จะมีส่วนสำคัญต่อการเปิดภาคธุรกิจและนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยได้ เพราะมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการขยายการลงทุนได้เป็นอย่างดีและเกิดการเดินทางติดต่อระหว่างประเทศได้สะดวกขึ้น

วิบูลย์ กรมดิษฐ์

ในส่วนของการดำเนินงานของอมตะไตรมาส 1 และ 2/2564 ถือว่าเป็นช่วงโลว์ซีซั่น ที่ข้อตกลงการซื้อ-ขายจะมีจำนวนน้อยมากเป็นไปตามไซเคิลแต่ละปีอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ข้อตกลงที่มีการเซ็นสัญญากัน จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของทุกปี ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดภาพการเจรจาซื้อขายที่ดิน แตกต่างจากภาวะปกติ เพราะติดการเดินเข้ามาประเทศไทย จึงใช้วิธีการเจรจาผ่านระบบออนไลน์เพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียดในพื้นที่ดินให้กับลูกค้า ซึ่งสามารถดำเนินการในระดับหนึ่ง แต่การตัดสินใจซื้อที่ดินจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อกลุ่มลูกค้าต้องเดินทางเข้ามาเห็นพื้นที่จริง เนื่องจากที่ดินมีมูลค่าสูง จำเป็นต้องศึกษาให้รอบคอบ

อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจว่ายอดขายที่ดินยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 950 ไร่ ทั้งไทยและนิคมฯ ในประเทศเวียดนาม แม้ว่าปีที่แล้วจะมียอดขายต่ำกว่าเป้าหมาย ด้วยปัจจัยที่มั่นใจว่านักลงทุนที่สนใจประเทศไทยยังคงลงทุนต่อเนื่อง และหากรัฐบาลสามารถปลดล็อกเงื่อนไขผ่อนปรนการเข้าประเทศให้กับนักลงทุนได้ เชื่อว่าแนวโน้มการลงทุนในนิคมฯ อมตะ จะเป็นไปตามแผน จากที่ก่อนหน้านี้ ได้มีการเจรจาไปแล้วในหลายราย

ทั้งนี้เห็นว่าปัจจุบัน การเดินทางเข้าประเทศของนักลงทุน ยังมีมาตรการที่ต้องกักตัว 14 วัน เพื่อเป็น Alternative State Quarantine ทำให้ขั้นตอนในส่วนนี้เกิดอุปสรรคในเรื่องระยะเวลาของการเข้ามาเจรจาของกลุ่มลูกค้า เพราะหากรวมระยะเวลาแล้ว ที่ต้องกลับไปกักตัวในประเทศของตนเองอีก รวมแล้วเกือบ 1  เดือน ที่ไม่สามารถทำบริหารจัดการธุรกิจได้

“ดังนั้นในมุมมองของเอกชน ภาครัฐควรคลายข้อกำหนดต่าง ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรค เพื่อให้การเปิดประเทศ โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ที่มีแผนเปิดพื้นที่กรุงเทพฯ จะเป็นการอำนวยความสะดวก และเป็นการส่งเสริมให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศได้มากขึ้น”