บอร์ด กนอ.ไฟเขียวตั้งนิคมอุตฯ เอเพ็กซ์กรีน ฉะเชิงเทรา ดึงลงทุน 6.4 หมื่นล้าน

วีริศ อัมระปาล

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อนุมัติจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ “เอเพ็กซ์กรีน อิสดัสเตรียล เอสเตท” ในฉะเชิงเทรา รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมในพื้นที่อีอีซี ใช้เวลาสร้าง 2 ปี คาดดึงเงินลงทุนได้ถึง 64,000 ล้านบาท จ้างงานอีก 16,000 คน

วันที่ 29 มิถุนายน 2564 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ. (บอร์ด กนอ.) อนุมัติให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 1 แห่ง โดยร่วมดำเนินงานกับบริษัท เอเพ็กซ์ ปาร์ค จำกัด ในรูปแบบของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน

ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี การขยายตัวของอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve และอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตอบสนองนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพตามยุทธศาสตร์ของประเทศเชิงพื้นที่ (Area based) โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาและให้บริการระบบสาธารณูปโภคภายใต้การกำกับของ กนอ.

โครงการจัดตั้ง นิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน อิสดัสเตรียล เอสเตท ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลหัวสำโรง และตำบลแปลงยาว อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ประมาณ 2,191 ไร่ โดยที่ตั้งของโครงการ อยู่ห่างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประมาณ 80 กิโลเมตร ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ประมาณ 100 กิโลเมตร สนามบินอู่ตะเภา ประมาณ 120 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ประมาณ 130 กิโลเมตร

ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ ประมาณ 10 กิโลเมตร และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ประมาณ 50 กิโลเมตร สภาพพื้นที่โครงการเป็นพื้นที่ดอนที่ไม่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมถึง ในส่วนของตัวโครงการแบ่งพื้นที่เป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั่วไปประมาณ 1,600 ไร่ พื้นที่สาธารณูปโภค พื้นที่สีเขียวและแนวกันชนประมาณ 591 ไร่ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดและเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปี

ซึ่งหลังจากเปิดดำเนินการแล้วจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 64,000 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นประมาณ 16,000 คน ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเกษตรกรรมและผลผลิตจากการเกษตรที่มีความต้องการใช้น้ำต่ำ กลุ่มอุตสาหกรรมเบา กลุ่มอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค กลุ่มการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการในพื้นที่อีอีซี

“โครงการดังกล่าวสนองตอบต่อนโยบายการพัฒนาพื้นที่อีอีซีของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการวางโครงสร้างพื้นฐานในระบบสาธารณูปโภค อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 และชักจูงการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve

โดย กนอ.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับนักลงทุน ซึ่งจากการพิจารณาข้อเสนอของโครงการจัดตั้งนิคมดังกล่าวแล้ว กนอ.เห็นว่า นอกจากศักยภาพของโครงการ ทั้งในด้านทำเลที่ตั้ง การเชื่อมโยงเครือข่ายด้านคมนาคมขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ แล้ว บริษัทยังมีความพร้อม มีฐานลูกค้า และมีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจ ที่คาดว่าจะทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี”

การจัดตั้งนิคมดังกล่าว ได้นำแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ โดยจัดให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนรอบพื้นที่โครงการ รวมทั้งจัดสรรพื้นที่สีเขียวภายในนิคมอุตสาหกรรม และในส่วนของน้ำทิ้งได้นำไปผ่านการบำบัดและปรับปรุงคุณภาพก่อนนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ (Recycle) เพื่อลดอัตราการระบายน้ำทิ้งออกนอกพื้นที่

ใช้แนวคิดออกแบบอาคารแบบอารยสถาปัตย์ และออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (Green Building) ลดการใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหันมาใช้พลังงานทดแทนเสริมพลังงานหลัก ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการ กนอ.ว่าด้วยมาตรฐานระบบสาธารณูปโภคสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสำหรับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ พ.ศ. 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม