ปิดแคมป์! ทุบเหล็กอลูมิเนียมดิ่ง มิลล์คอนปรับไลน์ผลิต-ส.อ.ท.ขอเยียวยา

ก่อสร้าง

อุตสาหกรรมเหล็กอ่วมซ้ำ หลังรัฐสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง 1 เดือนสกัดโควิด ฉุดยอดส่งมอบเหล็กวูบเหลือ 20-30% คาดการณ์ใช้เหล็กปี’64 ลดลง 10% “มิลล์คอนฯ” ปรับไลน์ผลิตเหล็กชนิดอื่นแทนเหล็กลวดก่อสร้าง ด้าน “ส.อ.ท.” จ่อถกสมาชิกร่อนจดหมายถึง “ประยุทธ์” ขอเยียวยาผู้ผลิต

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลจากคำสั่งประกาศปิดแคมป์คนงานก่อสร้างเป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลนั้น กระทบทำให้ผู้ผลิตจะสามารถส่งเหล็กเข้าโครงการก่อสร้างในกรุงเทพฯได้เพียง 20-30% เท่านั้น

จากเดิมส่งเข้าโครงการใหม่ ๆ 60-70% และจะกระทบยอดการใช้เหล็กในประเทศโดยรวมลดลง 10% จากที่คาดการณ์ไว้ทั้งปี 2564 จะมีปริมาณ 3-4 ล้านตัน

ในส่วนของมิลล์คอนฯยอมรับว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน เมื่อมีคำสั่งเหล็กก่อสร้างการใช้ก็ลดลงโดยเฉพาะงานในพื้นที่ก่อสร้างกรุงเทพฯ บริษัทจึงต้องใช้แผนบริหารระยะสั้น คือ การหันไปผลิตกลุ่มเหล็กประเภทอื่นที่ยังต้องใช้อยู่ตอนนี้แทน เช่น เหล็กลวดที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับนอต สกรู ตะแกรง เป็นต้น และผลิตส่งเข้าโกดังลูกค้าแทนโดยที่บริษัทไม่ต้องการหยุดผลิตเลย

ส่วนแผนระยะยาวจำเป็นที่จะต้องคุมสัดส่วนการส่งออกไปต่างประเทศไว้ด้วย เพราะจะเป็นอีกตลาดที่หากเกิดผลกระทบในประเทศในลักษณะแบบนี้อีก อย่างน้อยมิลล์คอนฯก็จะมีแผนสำรองตลาดอื่นไว้ด้วย

รายงานข่าวระบุว่า ล่าสุด ศบค.ได้ประกาศผ่อนปรนคลายล็อกให้ 4 ประเภทกิจการเกี่ยวกับการก่อสร้างกลับมาดำเนินการได้ นับว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะหากขยายเวลาเกินไปกว่า 1 เดือน เอกชนคงไม่ไหว และเริ่มหารือกันภายในสมาคมเหล็กเพื่อทำหนังสือชี้แจงความเดือดร้อนต่อภาครัฐ พร้อมทั้งต้องมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการทั้งซัพพลายเชน ไม่ใช่แค่เยียวยาคนงานก่อสร้าง

นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังการประกาศดังกล่าวผลกระทบอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมเส้นซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการก่อสร้างต้องหยุดส่งงานทันที เท่ากับออร์เดอร์หายไป 1 เดือน ทำให้มีสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นอีก 1 เดือน แน่นอนในแง่ของสภาพคล่องก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน

“สถานการณ์หลังจากนี้อีก 1 เดือนจะมีความสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจอะลูมิเนียม ผลกระทบในปัจจุบันไม่ได้เพียงแค่กระทบความต้องการในช่วงสั้น แต่ในกระบวนการผลิตเริ่มมีความกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ”

“เนื่องจากแทบทุกอุตสาหกรรมรวมทั้งอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมได้รับผลกระทบเรื่องการแพร่เชื้อของโควิด-19 แทบทั้งนั้น ซึ่งในปัจจุบันยังรับมือได้ระดับหนึ่ง แต่หากยังไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดหรือคุมให้ลดน้อยลงได้ จนทำให้ต้องปิดโรงงานจะทำให้ได้รับผลกระทบที่หนักหนาสาหัสมากขึ้นไปกว่าเดิม ดังนั้น เรื่องการจัดการวัคซีนเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดในปัจจุบัน”

แนวทางในปัจจุบันของกลุ่มอะลูมิเนียมนอกเหนือจากรอในส่วนของประกันสังคมตาม ม.33 แล้ว ยังเพิ่มแผนสำรองในการใช้วัคซีนทางเลือกด้วย ต้องแจ้งตามข้อเท็จจริงที่ทางสมาชิกร้องเรียนมานั่นคือ ในส่วนของการจัดสรรตาม ม.33 ซึ่งล่าช้ามาก ขณะนี้ส่วนใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมจะใช้วัคซีนทางเลือกจากทางสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นยี่ห้อซิโนฟาร์มเป็นหลัก

“เราต้องให้เครดิตนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ที่ร่วมกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จนกระทั่งได้รับการจัดสรรวัคซีนครบทุกบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ตามที่ได้ดำเนินการขอไป”

สำหรับสถานการณ์ครึ่งปีหลังของปี 2564 ทางกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมเห็นตรงกันว่าขึ้นอยู่กับการจัดการวัคซีนเป็นหลัก และอนุญาตให้โครงการก่อสร้างขนาดเล็กที่สามารถควบคุมแบบ bubble & seal และเป็นทีมขนาดเล็กที่สามารถทำตามมาตรการภาครัฐ และไม่เกิน 15 คน ที่ผ่านการตรวจโควิด-19 ทั้ง 100% สามารถทำงานได้ตามปกติ เพื่อลดผลกระทบต่อ SMEs ด้วย

“หากการจัดสรรวัคซีนล่าช้าไม่เพียงแต่กระทบเศรษฐกิจแต่จะกระทบกับการส่งออกด้วย ในกรณีที่โรงงานไม่สามารถผลิตสินค้าได้ ประกอบกับราคาอะลูมิเนียมและวัตถุดิบที่ใช้การผลิตอะลูมิเนียมทั้งแผ่นและเส้นในตลาดโลกล้วนมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา ก็เป็นผลกระทบที่หนักหนาสาหัสกับกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมในปัจจุบันอยู่แล้ว”

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอะลูมิเนียมแผ่น ซึ่งมีความต้องการสูงในตลาดอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป และส่วนอื่น ๆ เนื่องจากต้องทำงานที่บ้าน (WFH) มากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงจากโรคโควิด-19 ประกอบกับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดมลพิษทางทะเล ทำให้ความต้องการกระป๋องเครื่องดื่มจากอะลูมิเนียมมากขึ้น มีการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกเดือน

นอกจากนี้การส่งออกรถยนต์ที่มากขึ้น เดือนที่ผ่านมารวมทั้งในชิ้นส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้ความต้องการใช้อะลูมิเนียมทั้งแผ่นและเส้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง