IRC ชูนวัตกรรม ฝ่าโควิดโตฉลุย 8%

พิมพ์ใจ อิสสระนุกูล
พิมพ์ใจ อิสสระนุกูล ประธานกรรมการ IRC
สัมภาษณ์พิเศษ

หลายอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ “IRC” หรือ บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น อายุ 52 ปี เชี่ยวชาญทั้งการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอีลาสโตเมอร์ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ และธุรกิจด้านการผลิตยางนอก-ยางในของรถจักรยานยนต์ที่มีคุณภาพสูงมาตรฐานโลก ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นางพิมพ์ใจ อิสสระนุกูล” ประธานกรรมการ IRC ถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจท่ามกลางโควิด

ภาพรวมของ IRC ปี’64

ธุรกิจ IRC ครึ่งปีแรก ผลประกอบการดีกว่าปีที่แล้ว กำไรเพิ่มขึ้น 46% จากยอดขายโตขึ้น 8% ตลาดเดิมก็ดี และยังมีสินค้าใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรมก็ดี ทำให้ยิ่งเสริมการเติบโตภาพรวมปีนี้ในแง่ของยอดขายเราเติบโตกว่าประมาณ 8% แม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิดระลอก 3 ก็ตาม

ส่วนในแง่กำไร คิดง่าย ๆ ว่าครึ่งปีแรกก็โตกว่าปีก่อนไปแล้ว 46% ฉะนั้น ยอดกำไรก็ไม่ต้องห่วงมาก น่าจะไปได้อย่างที่คาดหวัง อย่างไรก็ตามอาจยังมีอุปสรรคจากต้นทุนวัตถุดิบที่ราคาสูงขึ้น จากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกดีมานด์โอเวอร์ซัพพลาย แต่โดยรวมแล้วสดใสกว่าปีก่อน

ฝ่าโควิดด้วยนวัตกรรม

ในยุคการแพร่ระบาดของโควิด-19 แบบนี้ ยืนยันได้ว่าการวิจัยและพัฒนาช่วยให้สามารถฝ่าวิกฤตโควิด-19 ได้ เพราะเราจะมีสินค้าใหม่ ๆ ซึ่งจะต้องดูว่าตลาดภายใต้โควิด และหลังโควิดจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไร อย่างเช่น ปัจจุบันเราเวิร์กฟรอมโฮม เมื่อโควิดผ่านไปยังเชื่อว่าจะยังเวิร์กฟรอมโฮมอยู่อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ก็ได้ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไป

อีกเรื่องคือ ดีลิเวอรี่เซอร์วิสส่วนใหญ่จะใช้รถจักรยานยนต์ พวกแกร็บ ลาลามูฟ เป็นอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นเราก็เกิดนวัตกรรมยางเพื่อรองรับผู้ขับขี่รถเพื่อดีลิเวอรี่ คือ ต้องมียางเพื่อความปลอดภัย ทนทานใช้งานได้นาน ราคาเหมาะสม ตอบโจทย์ เหมาะสำหรับผู้ขับขี่ เราก็ออกยางสำหรับรถนี้ Persona ยอดผลตอบรับดีตั้งแต่ตุลาคม 2563 เป็นตัวอย่างว่าอนาคตข้างหน้ามีอะไรที่เราจะสามารถพัฒนาได้ ชีวิตจะเป็นอย่างไร

“เราให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนานวัตกรรมมาก ศูนย์วิจัยของเราก็จะมีผู้เชี่ยวชาญทั้งไทย ญี่ปุ่น และมียุโรปด้วย มาแชร์การทำงานกันอย่างสนุกสนานทุกคนจะเอ็นจอยกัน มีการจัดสรรงบประมาณในด้านนี้แต่ละปีเฉลี่ย 10%”

“โดยเราแบ่งแยกการพัฒนาเป็นสองส่วน คือ งบประมาณในส่วนของไคเซน หรืองบประมาณในการปรับปรุงโรงงาน สมมุติงานที่เราทำอยู่ควรปรับตรงนี้แล้วดีขึ้นทันที ซึ่งการปลูกฝังให้คนทำไคเซนทันทีจะทำให้หัวคิดไม่หยุด พอคิดไม่หยุด มีความรู้เพิ่มขึ้น ก็จะเริ่มเกิดส่วนที่สอง คือ นวัตกรรม หรือที่เรียกว่านวัตกร เราจึงมีงบส่วนนี้ด้วย เราเริ่มทำมา 10-20 ปี แต่เริ่มจะเป็นระบบชัดเจนประมาณ 5 ปี”

ต่อยอดสู่ “โครงสร้างพื้นฐาน”

IRC มีสินทรัพย์ เงินสดดี พร้อมลงทุน เราจึงมองโปรเจ็กต์ใหม่ และหาผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพ และสินค้าในธุรกิจสายแข็ง สินค้าชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นกลุ่มที่มีจุดแข็งมาก และอีกส่วนคือ ผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่ยานยนต์ เช่น ตอนนี้เข้าไปผลิตสินค้ากลุ่มอินฟราสตรักเจอร์เป็นแผ่นยางต่าง ๆ ที่ใช้ในเส้นทางรางรถไฟ

ถือเป็นสินค้านวัตกรรมเพราะต้องใช้เทคโนโลยีสูงมากในการพัฒนายางพาราธรรมชาติเพื่อรองรับนำหนักถึง 30-40 ตัน เพราะปัจจุบันแมทีเรียลนี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศจะไม่ใช้ยางธรรมชาติแต่ใช้ยางสังเคราะห์อื่น ๆ แต่ทาง IRC เรามีศูนย์นวัตกรรมพัฒนาการใช้ยางธรรมชาติที่ผลิตในประเทศลดการนำเข้า ทำให้สินค้านี้ไปอยู่ในบัญชีสินค้านวัตกรรม เริ่มนำร่องเส้นทางสระบุรีไปแล้วกำลังจะมีเส้นทางอื่น ๆ ตามมา

“การใช้ยางธรรมชาติแทนจะช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศและช่วยเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราได้ด้วยซึ่งเราตระหนักดีกว่า เราโตมาจากยาง ก่อนหน้านี้เรามีโครงการ CSR เพื่อพัฒนาในส่วนกลุ่มสหกรณ์แห่งหนึ่งใน จ.ตรัง เราพัฒนามา 8 ปีแล้ว พัฒนามาจนได้ไอเอสโอ 9001 เวอร์ชั่น 2015″

“ซึ่งสหกรณ์สามารถส่งยางแผนได้ จากเดิมที่ต้องผ่านคนกลาง เราก็ได้วัตถุดิบเข้าบริษัทเรา ซึ่งในแต่ละปีเราใช้วัตถุดิบยางธรรมชาติประมาณ 20% ของยอดการใช้วัตถุดิบส่วนนี้ ก็ถือว่าเป็นยอดใหญ่ เราตระหนักว่าเมื่อ IRC เข้มแข็งแล้วก็ต้องกลับไปช่วยชุมชน ก็ดีไปด้วยกัน จากนี้ไปมองว่าแนวโน้มราคาพาราคาจะดีขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกดีขึ้น และยอดผลิตรถในโลกก็ดีขึ้น ดีมานด์ยางธรรมชาติน่าจะเพิ่ม ราคาก็จะดีขึ้น”

นอกจากนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้แต่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม เอสเคิร์ฟใหม่ที่ทางรัฐบาลสนับสนุน ซึ่งอยู่ในสโคปที่เรากำลังศึกษาอยู่ ไม่ไกลเกิน หรือไม่หลุดจากความเชี่ยวชาญของเรา เพราะยังคิดว่าทำอะไรที่อยู่ในสโคปที่เราเข้มแข็งจะดีกว่า ทั้งนี้แผนธุรกิจใหม่น่าจะได้เห็นภาพ ชัดเจนใน 1-2 ปี เพื่อจะศึกษาให้รอบด้าน

บริหารความเสี่ยงรับโควิด

สิ่งสำคัญที่เราทำคือ ต้องป้องกันพนักงานอย่างเข้มแข็ง ถ้าสมมุติติดโควิดสักคนกระบวนการผลิตรถยนต์ทั้งซัพพลายเชนกระทบหมดเลยการลงทุนป้องกันเรื่องโควิดถือว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่มันออฟเซตกับการที่เราไม่ติด ถือว่าคุ้มค่า

ดังนั้น มาตรการต้องเข้มข้นมากและที่สำคัญต้องใจถึงใจ ตั้งแต่โควิดเกิดปี 2019 มาจนถึงระลอก 3 เราเพิ่งทำไข่แตกมีผู้สุ่มเสี่ยงโควิด 1 คนจากที่มีคนในบ้านเดียวกันติดโควิด ก็ต้องรีบหาไทม์ไลน์หลังจากตรวจสวอป และกักตัว 14 วัน เป็นเคสสตัดดี้ครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปีนับจากมีโควิด

“เราไม่ได้ซีเรียสเรื่องวัคซีน เพราะเราสร้างความเข้าใจให้กับพนักงานในเรื่องโควิดในการดำรงชีวิตว่าจะทำอย่างไรในภาวะโควิด และสองวางมาตรการต่าง ๆ ในบริษัท ซึ่งจะทำให้มีการบริหารจัดการสุขอนามัยที่ดีในบริษัท เราแจกหน้ากากอนามัย ทำเจลแอลกอฮอล์เอง มีการให้ความรู้พนักงาน ทั้งหมดมี 3,000 คน ซึ่งตัวนี้เป็นตัวป้องกันที่ติดตัวทุกคนไป อย่างไรก็ตาม ถ้าวัคซีนมาก็จะถือเป็นเรื่องที่ดีขึ้นไปอีก”