ไม่เหลืองบลดค่าไฟ! ลุ้นรัฐบาลเจียด 8,000 ล้านบาท ช่วยประชาชน

ค่าไฟแพง

กกพ.เผยไม่เหลืองบลดค่าไฟ ลุ้นรัฐบาลเจียด 8,000 ล้านบาท อุ้มค่าครองชีพประชาชนต่อช่วงล็อกดาวน์หลังมาตรการเดิมสิ้นสุด 30 มิ.ย.64 เผยอยู่ระหว่างหารือหลายหน่วยงาน

วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.รับนโยบายจากภาครัฐให้เร่งรัดหาแนวทางดูแลค่าไฟฟ้าประชาชนต่อเนื่องเนื่องจากมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนและกิจการขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 พ.ค. 64 กำหนดให้ลดค่าไฟฟ้าตามมาตรการเดิมที่เคยดำเนินการในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 64 ให้มีผลรอบบิลเดือน พ.ค.-มิ.ย. 64 โดยใช้เดือน เม.ย. 64 เป็นเดือนฐานในการคิดคำนวณลดค่าไฟฟ้า สิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา

เบื้องต้น กกพ.อยู่ระหว่างจัดทำสมมติฐานและประเมินงบประมาณ ยอมรับว่า กรณีหากจะมีมาตรการช่วยค่าไฟฟ้าทั้งประเทศ และกรณีช่วยค่าไฟฟ้าในบางพื้นที่ที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ต้องรอภาครัฐพิจารณานโยบายออกมาให้ชัดเจนอีกครั้ง เพราะในส่วนของ กกพ.ไม่มีงบประมาณที่จะนำมาดูแลค่าไฟฟ้าประชาชน ซึ่งจะต้องเป็นการจัดหาเงินงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น โดยหากประเมินมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ในครั้งนี้ สมมติฐานในช่วง 2 เดือน ก็คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 8,000 ล้านบาท คาดว่าสรุปนำส่งให้กระทรวงพลังงานพิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือส่วนลดค่าไฟฟ้าไปแล้ว รวม 3 ครั้ง โดยรอบแรก งบประมาณมาจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ใช้แนวทางการบริหารจัดการเงินช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าประชาชน ระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 2563 ไปแล้วประมาณ 26,612 ล้านบาท เป็นเงิน Claw Back (เงินที่ กกพ. เรียกคืนมาจาก 3 การไฟฟ้า) มาจ่ายทั้งหมด

ขณะที่ ผลกระทบระลอกที่ 2 งบประมาณมาจากรัฐบาลใช้แนวทางบริหารค่าไฟฟ้า เป็นเงินอีกประมาณ 8,202 ล้านบาท และช่วงต้นปี รัฐบาลใช้แนวทางบริหารค่าไฟฟ้าอีกประมาณ 8,700  ล้านบาท

“การลดค่าไฟรอบนี้จะแตกต่างจากรอบก่อน เพราะงบประมาณของ กกพ.ที่ใช้สนับสนุน ปัจจุบันเหลือเพียงใช้บริหารค่าเอฟทีดังกล่าวเท่านั้น หากจะมีการลดค่าไฟฟ้าต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือประชาชน ที่คาดว่าหากต้องนำมาใช้ในช่วง 2 เดือน อยู่ที่ 8,000 ล้านบาท เงินนี้จะต้องให้รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน และตัดสินใจว่าจะดำเนินมาตรการนี้ต่อไปอย่างไร เพราะกกพ.ไม่มีให้ส่วนนี้แล้ว เราทำได้เพียงเสนอแนวทางให้เท่านั้น”

นอกจากนี้ ปี 2564 ประเมินราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะราคาพลังงานขาขึ้น ทำให้ค่าเอฟทีในปีหน้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับมองว่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทุก 1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อาจจะส่งผลให้กระทบกับค่าเอฟทีให้เพิ่มขึ้นประมาณ 6 สต./หน่วย โดย กกพ.มีวงเงินในการบริหารค่าเอฟทีราว 2,000-3,000 ล้านบาท ยอมรับว่าอาจไม่เพียงพอต่อการตรึงค่าเอฟทีได้เช่นเดิม

ส่วนประเมินปริมาณการใช้ไฟฟ้าในปี 2564 กกพ.ประเมินว่าจะใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ยังไม่มีการล็อกดาวน์ เนื่องจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมาการใช้ไฟฟ้าปรับตัวขึ้นสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ การใช้ไฟฟ้าจะลดลง แต่ยังสูงกว่าปี 63 ขณะที่ในกรณีที่มีการล็อกดาวน์ที่จะเกิดขึ้นขณะนี้ มองว่าการใช้ไฟฟ้าน่าจะใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน