คิกออฟไกด์ไลน์เครดิตเทอม 30-45 วัน เกษตร-ภาคผลิต/บริการ

ปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออก ซึ่งถือเป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทย

ต่างประสบปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการกำหนดระยะเวลานัดชำระหนี้ (เครดิตเทอม) ที่ยาวนานเกินไป รวมถึงการผิดนัดชำระหนี้จากลูกหนี้การค้า

กระทั่งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) ได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ให้ศึกษาพิจารณาในการกำหนดเงื่อนไขระยะเวลาการชำระสินเชื่อการค้าในประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการตั้งแต่เดือนกันยายน 2563

คิกออฟไกด์ไลน์เครดิตเทอม

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการแข่งขันทางการค้า ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวปฏิบัติมาตรฐานเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาชำระเงิน (ไกด์ไลน์เครดิตเทอม) เปิดเผยระหว่างงานสัมมนาออนไลน์ “เจาะลึก Credit Term SMEs ต้องรู้”

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมาว่า สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)

โดยประกาศดังกล่าวได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 จะมีผลบังคับใช้ใน 180 วันหลังประกาศ ซึ่งคาดว่าประมาณวันที่ 16 ธันวาคม 2564

ในระหว่างนี้ ให้ผู้ประกอบการปรับตัวรับแนวปฏิบัติดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญว่าผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศนี้ หมายถึง ผู้ประกอบการที่มีลักษณะกิจการดังนี้ 1) การผลิตสินค้าที่มีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน

หรือมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี 2) การให้บริการกิจการค้าส่งหรือค้าปลีกที่มีการจ้างงานไม่เกิน 100 คน หรือมีรายได้น้อยกว่า 300 ล้านบาทต่อปี

ประกาศได้กำหนดระยะเวลาสินเชื่อการค้า สำหรับภาคการค้า ภาคการผลิตภาคบริการ ไม่เกิน 45 วัน เว้นแต่ได้มีการตกลงระยะเวลาที่น้อยกว่าอยู่แล้ว และภาคการค้า ภาคการผลิต ภาคบริการ

เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแปรรูปขั้นต้น ที่มีกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน กำหนดระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน เว้นแต่ได้มีการตกลงระยะเวลาที่น้อยกว่าอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม กรณีมีเหตุผลอันสมควรที่สามารถรับฟังได้ในทางธุรกิจ การตลาดหรือเศรษฐศาสตร์ ภายใต้เงื่อนไขในสัญญาอาจกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าที่แตกต่างกันได้

มีบทลงโทษ ตาม ม.57

แต่หากพบว่ามีพฤติกรรม เช่น ประวิงเวลา คือ จ่ายค่าสินค้าหรือบริการช้ากว่าที่กำหนดในเครดิตเทอมไว้ โดยไม่มีเหตุผล หรือเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการให้เครดิตเทอม

หรือมีพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น กำหนดเงื่อนไขพิเศษที่เป็นการสร้างภาระให้คู่สัญญา จะถือว่าเข้าข่าย “การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม” ซึ่งจะมีบทลงโทษตามมาตรา 57 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าปี 2560

ซึ่งจะมีความผิดมีโทษทางปกครอง คือปรับ 10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด ซึ่งจะพิจารณาเป็นกรณีที่กระทำผิดเท่านั้น โดยพิจารณาว่าผู้ประกอบการนั้นไม่ได้จงใจประวิงเวลา เปลี่ยนแปลง ยืดเวลาในการให้สินเชื่อ โดยให้เหตุผลอันเป็นเหตุที่ฟังไม่ขึ้น ไม่สมควร ย่อมถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งก็ต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป

ช่วยเอสเอ็มอีเสริมสภาพคล่อง

นายสันติชัยกล่าวว่า ประกาศดังกล่าวจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้กับผู้ประกอบการไทยทั้งเอสเอ็มอีขนาดเล็ก กลางและใหญ่

รวมไปถึงผู้ประกอบการที่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่ทำธุรกิจภายในประเทศไทย โดยกฎหมายฉบับนี้จะไม่มีผลบังคับใช้กับหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากมีกฎระบียบ เงื่อนไขเฉพาะที่ดูแลอยู่แล้ว

“ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถือเป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทย จากข้อมูลจะพบว่าไทยมีเอสเอ็มอี 3.1 ล้านราย มีมูลค่าการค้าของเอสเอ็มอีในประเทศเกือบ 40% ของจีดีพี สามารถจ้างแรงงานในประเทศได้ถึง 12 ล้านคน”

เครดิตเทอมในต่างประเทศ

นายสันติชัยกล่าวอีกว่า หากเทียบกับระยะเวลา เครดิตเทอมในต่างประเทศ ก่อนที่จะมีกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้ ประเทศไทยนั้นมีเครดิตเทอมอยู่ที่ 60-120 วัน แต่หากดูระหว่างคู่ค้าเอสเอ็มอี

และบริษัทใหญ่จะให้เครดิตเทอมอยู่ที่ประมาณ 55-62 วัน หรือเอสเอ็มอีกับเอสเอ็มอีด้วยกันให้เครดิตเทอมอยู่ที่ประมาณ 30-45 วัน ขณะที่ในต่างประเทศมีระยะเวลาเครดิตเทอมสั้นกว่าไทย มีตั้งแต่ 24-41 วัน แล้วแต่ประเทศ (กราฟิก)

“จึงเป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรจะปรับระยะเวลาของไทยให้มีความเหมาะสม เพราะมองว่าหากไม่ดำเนินการอย่างไรเลย เครดิตเทอมอาจจะขยายเวลาออกไปนานกว่านี้ก็ได้ ตามธรรมชาติของธุรกิจอำนาจต่อรองจะตกอยู่ที่บริษัทใหญ่ ส่งผลให้เอสเอ็มอีเสียเปรียบ”

อย่างไรก็ดี จากการรับฟังความเห็นบางรายต้องการให้บังคับเร็วขึ้น แต่บางรายก็ยัง “ไม่ต้องการ” ให้บังคับใช้ประกาศนี้ ซึ่งสำนักงานมีกลไกรับปัญหาข้อร้องเรียน

พร้อมทั้งมีหลักในการพิจารณาข้อมูลในการรับร้องเรียนอย่างรอบคอบ โดยจะยึดตามสัญญา หากเปลี่ยนแปลงต้องมีเหตุผลสมควรที่ฟังขึ้น หากพิจารณาแล้วพบว่าไม่มีเหตุสมควรก็ถือว่าผิดกฎหมาย

ห่วงเอสเอ็มอียังไม่เข้าใจ

นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทางหอการค้าไทยได้สำรวจผู้ประกอบการ 50 รายทั้งภาคผลิต ภาคบริการ

ทุกกลุ่มผู้ประกอบการทั้งขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดไมโคร โดยพบว่าผู้ประกอบการประมาณ 50% เข้าใจกับประกาศดังกล่าวแต่ที่เหลืออีก 34% ยังไม่เข้าใจ และอีก 16% ก็ยังเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ไม่รู้จะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไร

“ยังเป็นห่วงในแนวทางปฏิบัติในการให้เครดิตเทอมโดยเฉพาะเอสเอ็มอีด้วยกันเอง ซึ่งมีความอ่อนแอกันทั้ง 2 ฝ่ายโดยเฉพาะช่วงปัญหาในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการอาจจะกังวลว่าตนเองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้หรือไม่ เพราะห่วงว่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี ทาง กขค.ได้เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการสามารถรับคำปรึกษา รวมไปถึงช่องทางการร้องเรียน หากมีการฝ่าฝืนกระทำผิด”

ผู้ผลิตสีไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้

ตัวแทนสมาคมผู้ผลิตสีไทยไม่เห็นด้วยที่จะบังคับใช้ประกาศดังกล่าว เนื่องจากผู้ผลิตสีไทย ซึ่งมีความหลากหลายของกลุ่มผู้ซื้อ ผู้ผลิต รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สีก็มีความหลากหลาย

ปัจจุบันผู้ประกอบการก็ให้เครดิตเทอมกันประมาณ 90-120 วัน ก็สามารถค้ากันได้ แต่หากกฎหมายบังคับใช้อาจจะทำให้ผู้ซื้อไม่สต๊อกสินค้า ซึ่งกระทบทางด้านตลาดผู้ซื้ออาจจะหันไปซื้อรายใหญ่มากขึ้น เพราะเอื้อประโยชน์ได้ดีกว่า

หรือการจำกัดความของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกฎหมาย ก็ยังมองว่าอาจจะไม่ตรง อย่างเช่น กลุ่มก่อสร้างอยู่ในกลุ่มให้บริการ แต่ผู้ประกอบการเห็นว่าควรจะอยู่ในส่วนของภาคผลิตถึงจะเหมาะสม

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มคลัสเตอร์สำคัญ 15 คลัสเตอร์ ดังนั้นอาจจะต้องมีการประชุมหารือและแบ่งกลุ่มคลัสเตอร์หารือกับ กขค. ถึงข้อกังวลอีกครั้ง