จี้เร่งกฎหมายจีเอ็มโอ รับ CPTPP ติดฉลากให้ผู้บริโภคเลือก

ผัก

หวั่นสินค้า GMOs แคนาดาทะลักไทยกระทุ้งรัฐเร่งกฎหมาย GMOs อืดมา 18 ปีก่อนเข้า CPTPP บีบติดฉลากสินค้าที่มาตัดแต่งพันธุกรรมน้อยกว่า 5% ขยายขอบเขตคลุมทั้งพืช สัตว์ จุลินทรีย์อาหาร

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เปิดเผยระหว่างการสัมมนาออนไลน์ “ผลกระทบ CPTPP กับผู้บริโภคต่อการกำกับดูแลอาหาร GMOs และการปฏิเสธการนำเข้าสารเคมีอันตรายในประเทศ” จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมาว่า ทางภาคประชาสังคมให้ความเป็นห่วงการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP หากไทยยังไม่มีความพร้อมด้านกฎหมายและการกำกับดูแลอาหารที่มีการตัดแต่งพันธุกรรม หรือ GMOs

“ขณะที่ประเทศสมาชิก CPTPP อย่างแคนาดาเป็นประเทศที่มีการเปิดกว้างและผลิตพืช GMOs มากที่สุด ทั้งในกลุ่มพืช เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง และชูการ์บีตอาหาร และมีในสัตว์ อาหาร พร้อมมีการส่งออกไปต่างประเทศ ดังนั้นหากไทยเข้าร่วม CPTPP โดยไม่พร้อมจะไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ ทั้งยังจะทำให้สินค้าที่มี GMOs ไหลเข้ามาประเทศมากขึ้น”

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) กล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีกฎหมาย GMOs จะเป็นเกาะปกป้องและป้องกันประเทศได้เป็นอย่างดี เมื่อมีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเข้ามาในประเทศไทย ปัจจุบันจะพบว่า มี 29 ประเทศที่ปลูกพืช GMOs ในพืช 32 ชนิด และพืชที่ปลูกส่วนใหญ่ เช่นถั่วเหลือง ข้าวโพด ซึ่งได้ตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อให้ทนทานต่อยาปราบศัตรูพืช ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดวัชพืช เช่น ไกลโฟเซต โดยสารดังกล่าวเมื่อใช้ปริมาณมากก็จะตกค้างในพื้นที่โดยรอบ ร่างกายมนุษย์ ลำน้ำ เป็นต้นแต่พืช GMOs จะไม่ได้รับผลกระทบยังเติบโตได้

และหากมีการนำเข้าพืช GMOs โอกาสที่จะนำเข้าอาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ แม้ประเทศไทยจะไม่ได้อนุญาตให้มีการปลูกพืช GMOs แต่ก็ยังให้มีการนำเข้าโดยเฉพาะข้าวโพด และถั่วเหลือง ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพในการตรวจสอบสารตกค้างในพืช GMOs เช่นเดียวกับยุโรปหรืออินเดียที่ยังห้ามนำเข้า

นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ อนุกรรมการสภาองค์กรของผู้บริโภค ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ และนักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ทาง 158 องค์กรภาคประชาสังคม ได้พยายามผลักดันการปรับปรุงแก้ไขประกาศกฎหมาย GMOs ซึ่งผ่านมากว่า 18 ปี ยังไม่ได้รับการแก้ไขประกาศยังเป็นประกาศเดิมปี 2558

สาเหตุที่ต้องการผลักดันกฎหมายเพื่อให้มีการติดฉลากสินค้าทุกชนิดที่มี GMOs เป็นส่วนผสมให้ประชาชนตัดสินใจซื้อได้ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายประกาศให้ติดฉลาก GMOs ในสินค้าที่มีส่วนผสม 5% ขึ้นไป แต่ต่ำกว่านี้ไม่บังคับ และต้องการนิยามให้ GMOs ครอบคลุมทั้งพืช สัตว์ จุลินทรีย์และอาหาร

ล่าสุดทางที่ประชุมคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ให้ไปศึกษาผลกระทบและข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วนเพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป โดยจากนี้ไปภาคประชาสังคมก็พร้อมที่จะเดินหน้าแก้ไขประกาศอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค