ไทยใช้น้ำมันครึ่งปีแรกวูบ 3.9% “ปตท.-บางจากฯ-พีทีจีฯ” ยังบวก

น้ำมัน

แม้ว่าทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2564 ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.1% ตามสมมุติฐานภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว เพิ่มขึ้น 0.7-1.5% โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการผลิตเพื่อการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว จึงคาดการณ์ว่าการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท แต่ยกเว้น “การใช้น้ำมัน” ที่คาดว่าจะลดลง 5.5%

เป็นผลจากการยกระดับมาตรการล็อกดาวน์และการประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะต่ออายุมาตรการ สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ในช่วง 62-72 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า ภาพรวมการใช้พลังงานขั้นต้นช่วงครึ่งปีแรกปรับเพิ่มขึ้น 2.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวในช่วงต้นปีโดยเฉพาะการผลิตสินค้าส่งออก และสาขาเกษตรกรรมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอก 3 ในเดือนเมษายน 2564 ส่งผลให้ภาครัฐประกาศมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค อาทิ work from home และจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัดต่อเนื่องมา ส่งผลถึงการใช้พลังงานในไตรมาส 2 โดยสาขาที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน คือ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาขนส่ง การขายส่งและการขายปลีก

ปัจจัยดังกล่าวทำให้ภาพรวมการใช้น้ำมันสำเร็จรูปครึ่งปีแรกลดลง 3.9% โดยน้ำมันดีเซลลดลง 1.1% เนื่องจากการขนส่งลดลงในช่วงดังกล่าว และน้ำมันเครื่องบินลดลง 53.0% ส่วนการใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น 0.2% เนื่องจากการใช้เริ่มกลับสู่ภาวะปกติในไตรมาสแรกก่อนจะลดลง

ขณะที่ภาพผลประกอบการครึ่งปีแรกของค่ายน้ำมันรายใหญ่เริ่มทยอยประกาศผลสรุปออกมา โดยเบอร์ 1 อย่าง ปตท.นั้น ทางบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จํากัด (มหาชน) หรือ PTTOR มีรายได้รวม 237,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2563 สัดส่วนรายได้ของ PTTOR แบ่งเป็น 3 กลุ่มธุรกิจหลัก แบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจน้ำมันสัดส่วน 91% กลุ่มธุรกิจ non-oil 3.4% กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ 5.4% และอื่น ๆ อีก 0.2%

แม้ว่า กลุ่มธุรกิจน้ำมันได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ระลอกใหม่แต่ก็จํากัดเฉพาะในบางจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่านั้น ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกขายน้ำมันได้ 11,452 ล้านลิตรลดลง 5% เมื่อเทียบกับปี 2563 แยกเป็น น้ำมันดีเซลมีสัดส่วนการขาย 46.3% น้ำมันเบนซินมีสัดส่วนการขาย 24.7% ส่วนน้ำมันอากาศยานมีสัดส่วนการขายเหลือเพียง 7.2% สำหรับสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ขณะนี้มี 2,027 แห่ง ส่วนสถานีบริการ LPG มี 214 แห่ง

กลุ่มธุรกิจ non-oil ที่รายได้ปรับตัวลดลงตามอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ลดลง แต่จากการนําเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย การออกกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนการจําหน่ายผ่านช่องทางอื่น ๆ อาทิ การนํากลับบ้าน (takeaway) บริการจัดส่ง (delivery service) Drive-Thru ทําให้ยอดขาย “ไม่ลดลง” มากนัก และสุดท้ายกลุ่มธุรกิจต่างประเทศนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ที่ 85,006 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22%

สำหรับปริมาณการจำหน่ายน้ำมัน 2,422 ล้านลิตร ลดลง 6% จากช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 แยกเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ปริมาณ 736 ล้านลิตร ลดลง 0.5% น้ำมันเครื่องบินลดลง 69% จากครึ่งปีแรกของปี 2563 เป็น 70 ล้านลิตร

ทั้งนี้ บางจากฯมีส่วนแบ่งการตลาดด้านปริมาณการจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการสะสมเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 อยู่ที่ 15.9% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้บริษัทสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดในอันดับ 2 (ข้อมูลกรมธุรกิจพลังงาน)

และในไตรมาส 2/2564 บางจากฯ มีจำนวนสถานีบริการน้ำมัน 1,247 สถานี และมีสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA ติดตั้งในสถานีบริการน้ำมันบางจากฯ 27 สถานี ให้บริการใน 17 จังหวัด

มีการขยายธุรกิจ non-oil มีร้านกาแฟอินทนิลจำนวน 711 สาขา ยอดขายต่อวันเพิ่มขึ้น 7% และยังมียอดขายผ่าน online delivery platform เพิ่มขึ้นกว่า 90% จากไตรมาสก่อน รวมทั้งแตกไลน์ธุรกิจเครื่องดื่ม ซื้อสิทธิ์การขยายร้านชานมไข่มุก DAKASI 2 สาขา และมีแผนที่จะเปิดเพิ่มอีก 10 สาขาในปีนี้

ขณะที่บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG มีรายได้ 65,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.6% เมื่อเทียบกับปี 2563 จากธุรกิจน้ำมันเพิ่มขึ้น 24.7% จากราคาขายของน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.5% ปริมาณการขายน้ำมัน 2,626 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 8.4% ตามจำนวนของสถานีบริการน้ำมันที่เพิ่มขึ้นถึง 1,902 แห่ง โดยรักษามาร์เก็ตแชร์การจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการเป็นอันดับ 2 ที่ 18.7%

แม้บริษัทจะมีต้นทุนการขายและการบริการที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 59,908 ล้านบาท หรือ 29.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่การปรับราคาน้ำมันหน้าสถานีบริการสอดคล้องกับราคาต้นทุนน้ำมัน ทำให้ค่าการตลาดช่วงครึ่งปีแรกอยู่ในเกณฑ์ที่ดี บริษัทมีกำไรขั้นต้น 5,666 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่รายได้ธุรกิจที่ไม่ใช้น้ำมัน (non-oil) เพิ่มขึ้น 33.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจ LPG ในครึ่งปีแรก มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้น 80.3% เป็น 128 ล้านลิตร ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดก๊าซ LPG ผ่านสถานีบริการเป็นอันดับ 2 ที่ 16.4% และส่วนแบ่งตลาดผ่านทุกช่องทางเป็นอันดับ 4

ส่วนธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ร้านสะดวกซื้อ, ธุรกิจให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์และอื่น ๆ มีการให้บริการที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนสาขาธุรกิจ non-oil ทั้งสิ้น 1,008 สาขา