CEO ปรับแผนธุรกิจรับวิกฤตโควิดลากยาวข้ามปี

ซีอีโอกางแผนรับมือโควิดลากยาวข้ามถึงปีหน้า ต้องปรับแผนธุรกิจ-ลดงบฯลงทุนรับความผันผวนที่ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ ชี้ล็อกดาวน์แคมป์ก่อสร้างฉุดบิ๊กโปรเจ็กต์ของ “TU-IRPC-RATCH” ดีเลย์เพียบ

มีทั้งโรงงานอาหาร-รถไฟฟ้า-มอเตอร์เวย์ “TU-IRPC-ราช กรุ๊ป” ด้านปั๊มน้ำมัน PTG ลดการขยายสาขา ส่วนค่าย ปตท.มองข้ามชอตลงทุนธุรกิจใหม่นอกเหนือพลังงานรับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 20,000 คนต่อวัน จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศมาตรการเข้มข้นขยายพื้นที่ล็อกดาวน์สีแดงไป 29 จังหวัดจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม

และมีแนวโน้มที่จะขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ต่อไปอีก ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มปรับแผนรับมือ “ความยืดเยื้อและความไม่แน่นอน” ในการทำธุรกิจหลังจากประกาศผลประกอบการครึ่งปีแรกของปีนี้สิ้นสุดลง

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ประเมินว่า แนวโน้มโควิด-19 จะข้ามไปถึงปีหน้า และจากการระบาดต่อเนื่องมากว่า 19 เดือนยิ่งตอกย้ำความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดในโลก ทำให้ไม่มีทางคาดการณ์ได้หมดจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมาอีก

Advertisment

“ถือว่า TU โชคดีที่ธุรกิจสามารถปรับตัวได้และอยู่ในเซ็กเตอร์ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ แค่อาจจะมีการดีเลย์การก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ออกไป ทำให้เราต้องปรับเลื่อนแผนการลงทุน

การลงทุนสินทรัพย์ (Capital Expenditures : Capex) จาก 6,000-6,500 ล้านบาท คาดว่าจะลงทุนได้ประมาณ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะ TU ยังลงทุนอย่างต่อเนื่อง

และก็เป็นการดูแลรักษากระแสเงินสดให้ดี มีการชำระหนี้ต่าง ๆ โดยโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มี 5 โครงการที่คงต้องเลื่อนออกไปประมาณ 3 เดือน คือ โรงงานผลิตโปรตีนไฮโดรไลเซตคอลลาเจน โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปที่ จ.สมุทรสาคร และโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยง

อยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตก่อนหน้านั้น ส่วนอีก 2 โรงงาน คือ การลงทุนของสตาร์ตอัพใน 2 ธุรกิจ คือ โรงงานทำแป้งพิเศษสำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวานร่วมกับสตาร์ตอัพจากสิงคโปร์ที่สร้างเพิ่มในโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป กับโรงงานที่ผลิตอินเซค โปรตีน จากสตาร์ตอัพอิสราเอล” นายธีรพงศ์กล่าว

Advertisment

IRPC เลื่อนลงทุนขนาดเล็ก

เช่นเดียวกับนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายได้ในต้นปี 2565 ส่วนอีก 5 เดือนที่เหลือหลังจากนี้ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจและการดำเนินงานของราช กรุ๊ป “อาจดีกว่าที่คาด”

ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการโรงไฟฟ้า แต่ต้องพยายามควบคุมดูแลไม่ให้กระทบต่อการจ่ายไฟ แต่ก็ยอมรับว่ามีโครงการลงทุนที่ล่าช้า ยกตัวอย่าง โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช,

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สายสีเหลือง จากปัจจุบันยังถูกล็อกดาวน์ควบคุมการก่อสร้างที่ยังทำต่อไม่ได้ ขณะนี้จึงรอและหวังว่าต้นปี 2565 ทุกอย่างจะคลายล็อกลงได้

“RATCH มีแผนที่จะเพิ่มทุน 30,000 ล้านบาท โดยเป้าหมายยังคงออกไปลงทุนต่างประเทศ ส่วนภาพรวมการลงทุนตอนนี้ยังเป็นไปตามแผนไม่ปรับลดการลงทุนใด ๆ

เพราะมีดีลที่คาดว่าจะได้ปลายปีนี้ โดยในช่วงครึ่งปีหลังจากเงินลงทุนทั้งปี 2564 ที่ตั้งไว้ 15,000 ล้านบาทได้ใช้ไปแล้วส่วนหนึ่ง หรือเหลือประมาณ 9,560 ล้านบาท” นายกิจจากล่าว

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า ความท้าทายนับจากนี้คือการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง 2564

โดยต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้โครงการขนาดเล็กที่วางแผนลงทุนไว้ก่อนเกิดการระบาด “จำเป็นต้องเลื่อนไปก่อนและต้องทบทวนใหม่” ดังนั้น IRPC จึงประเมินว่า โควิด-19 รอบนี้ยังคงกดดันตลาดต่อไปและส่งผลให้ไตรมาส 3 สินค้าที่ต้องอาศัยการส่งออก “ยังไม่สามารถเติบโตได้”

อย่างไรก็ตาม IRPC ยังเดินหน้าตามแผนการลงทุน 5 ปี (2564-2568) และได้เตรียมเงินไว้ 30,000 ล้านบาท ซึ่งในครึ่งปีหลัง 2564 จะเห็นความชัดเจนของโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐาน EURO V และการขยายไปยังธุรกิจใหม่

PTG ลดงบฯลงทุน

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG กล่าวว่า ได้ปรับประมาณการและเป้าหมายในการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง

โดยปรับลดการขยายสาขาและการลงทุนจากงบฯลงทุนจาก 4,000-4,500 ล้านบาทเหลือ 3,000-3,500 ล้านบาท ลดการขยายสาขาทั้งหมดจาก 3,160 เหลือ 3,030 สาขา

รวมถึงได้ปรับการเติบโตของปริมาณการจำหน่ายน้ำมันทั้งปีลดลงเหลือ 5-8% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะโต 8-12% แต่ยังคงประมาณการเติบโตทางธุรกิจ LPG มากกว่า 100% โดยเน้นการให้บริการแบบครบวงจร

ปตท.เพิ่มพอร์ตลงทุนใหม่ ๆ

ขณะที่นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า ปตท.คงไม่ได้ปรับแผนเพื่อที่จะรองรับเพียงเเค่สถานการณ์โควิด-19

แต่มีการวางแผนระยะยาวแล้วว่าต้องปรับ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เรียกได้ว่าปรับทั้งกระบวนทัศน์ มีการเพิ่มเป้าพลังงานทดแทนมากขึ้น ยังคงเดินหน้าเพิ่มพอร์ตการลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่พลังงาน

โดยการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังของ ปตท.ยังเป็นไปตามแผน 5 ปี ขณะที่แนวโน้มการดำเนินงานในครึ่งหลังของปี 2564 คาดว่าจะสามารถทำผลประกอบการได้ใกล้เคียงกับครึ่งแรกของปี 2564 หากไม่มีเหตุการณ์อื่น ๆ มากระทบรุนแรง”

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลังนี้ยังมีความท้าทายอย่างมากที่ต้องฝ่าวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงมากขึ้น

หากควบคุมโควิด-19 ได้ในไตรมาส 4 สถานการณ์ก็จะเริ่มคลี่คลายลง ส่งผลให้การเดินทางหรือจับจ่ายใช้สอยจะดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนผลประกอบการของ OR ด้วย

“ในช่วงครึ่งปีหลังรายได้ของ OR อาจจะใกล้เคียงกับช่วงครึ่งแรกของปี แต่ปัจจัยหลักขึ้นอยู่กับ GDP ซึ่งจากการคาดการณ์ของหลายหน่วยงานเห็นว่า GDP ปีนี้อาจไม่เติบโตมากนัก

แต่ปีหน้าจะเริ่มดีขึ้นอยู่ที่ 3.7% ทุกคนน่าจะเริ่มได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุมและมีวัคซีนทางเลือกเข้ามา” น.ส.จิราพรกล่าว