เปิด 5 มุมมองสมาพันธ์ SME ไทย ต่อมาตรการ ธปท. ประคองรายย่อยฝ่าโควิด

แสงชัย ธีรกุลวาณิช
แสงชัย ธีรกุลวาณิช

5 ข้อเสนอสมาพันธ์ SME ไทย ต่อมาตรการเพิ่มวงเงินสินเชื่อฟื้นฟู ขยายการค้ำประกันกลุ่มเปราะบาง ธปท. ชี้การขยายวงเงินเพิ่มเติม ดอกเบี้ยเดิมไม่ลด วงเงินใหม่ใช้ดอกเบี้ยเหมือนเดิม “ไม่ได้ช่วย” แจงเอกชนต้องเจอพิโก้ดอกโหด 36%

วันที่ 28 สิงหาคม 2564 นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ”ว่า จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับมาตรการชุดใหญ่เติมสภาพคล่อง แก้หนี้เดิมประคองลูกหนี้เอสเอ็มอีจากวิกฤตโควิด-19

ทางสมาพันธ์ SME ไทย มีความคิดเห็นต่อมาตรการเพิ่มวงเงินสินเชื่อฟื้นฟู ขยายการค้ำประกันกลุ่มเปราะบาง ที่ออกมาช่วย SME ดังกล่าวว่าต้องมีประเด็นต้องพิจารณา ประเมิน และติดตาม 5 เรื่อง คือ

1 ดอกเบี้ย (มองยาว) การขยายวงเงินเพิ่มเติม ดอกเบี้ยเดิมไม่ลด และวงเงินใหม่ ดอกเบี้ยเหมือนเดิม ไม่ได้ช่วยเหลือ SME อย่างเต็มที่ เนื่องจากภาระดอกเบี้ย เป็นปัจจัยสำคัญในการที่ผู้ประกอบการ SME แบกภาระสูงมาโดยตลอด ดอกเบี้ยมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะดอกเบี้ยที่ SME และประชาชนต้องเผชิญกับพิโก้ นาโนไฟแนนซ์ สูงถึง 36% และการปรับลดดอกเบี้ยร่วมกับค่าธรรมเนียมต่างๆ จะเป็นการแก้ไขในระยะยาวที่ภาคธนาคารจะมีส่วนร่วมในการดูแล SME หรือลูกค้า อย่างต่อเนื่องต่อไป

2 (ช่วยมาก ช่วยเร็ว) ธนาคารขยายทั้งกลุ่มลูกหนี้ใหม่ และลูกหนี้เดิม ต้องดำเนินการรายงานผลให้ประชาชนทราบอย่างโปร่งใสถึงจำนวน สัดส่วน มูลค่าที่ดำเนินการ

  • 2.1 ลูกหนี้ใหม่ SME ที่ได้รับความช่วยเหลือ
  • 2.2 ลูกหนี้เก่า SME ที่ได้รับความช่วยเหลือ
  • 2.3 จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อ และ % Success rate รวมทั้งมาตรการรองรับผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ดำเนินการอย่างไร มีกระบวนการรองรับ แจ้งผู้ไม่ผ่านเกณฑ์พัฒนา ฟื้นฟู แก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในทางอื่นๆ

3 ธนาคารัฐ ควรมีมาตรการรับโอนสินเชื่อ SME ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ (Re-finance) มาดูแลแทน เพื่อช่วยเหลือ SME ที่เผชิญดอกเบี้ยสูง และไม่ได้รับการช่วยเหลือให้มีช่องทางที่ดีกว่า

4 มาตรการ ธปท ใช้กับหน่วยงานภายใต้การกำกับของ ธปท เท่านั้น ธปท ควรมีมาตรการ แนวทาง เสนอแนะผลักดันให้หน่วยงานนอกการกำกับ ผ่านกลไกภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือร่วมด้วย

5 การจูงใจธนาคารให้ปรับโครงสร้างหนี้ โดยต่ออายุลดเงินนำส่ง FIDF จาก 0.46% เป็น 0.23% เพื่อลดต้นทุนให้ธนาคารถึงสิ้นปี 2565

  • 5.1 ต้องมีตัวชี้วัดที่ขัดเจนว่า SME ได้ประโยชน์จากการลด FIDF จำนวนเท่าใด มูลค่าเท่าใด คุ้มค่าอย่างไร ?
  • 5.2 ธปท ทำให้เกิด Moral hazard สภาวะที่บางธนาคารอาจได้รับประโยชน์ในการลดค่าใช้จ่าย แต่ไม่ดำเนินการช่วยเหลืออย่างสุจริตใจให้กับ SME ตรงตามวัตถุประสงค์ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำของแต่ละธนาคาร
  • 5.3 ธปท ควรทบทวนมาตรการ FIDF โดยการพิจารณาแบบอัตราก้าวหน้า คำนึงถึงปัจจัยชี้วัดต่างๆ อาทิ จำนวนรายย่อย รายย่อม รายกลาง ที่ได้รับการช่วยเหลือ สัดส่วน จำนวนเงินที่ใช้ในแต่กลุ่ม แทนการเหมา 0.23% ทุกธนาคาร เพื่อความเป็นธรรม และตรงตามวัตถุประสงค์การลดเงินนำส่ง FIDF

“สิ่งสำคัญ คือ ข้อมูลที่ ธปท ดำเนินการมาตรการข้างต้น ต้องเปิดเผยต่อประชาชน และตรวจสอบได้ เพื่อไม่ให้การนำเงินที่ลดส่ง FIDF ไปเป็นประโยชน์ต่อธนาคาร โดยไม่ดำเนินการช่วยเหลือ SME ตามวัตถุประสงค์ ก่อให้เกิด Moral hazard ภาคการธนาคาร“ นายแสงชัยกล่าวย้ำ