เดินหน้าผลิตแบตเตอรี่รถอีวี ดีมานด์เพิ่มเท่าตัว บางจากหวั่นลิเธียมราคาพุ่ง

ผวาราคาลิเธียมโลกพุ่งชนเพดาน 17,000-18,000 เหรียญ/ตัน หลังดีมานด์แบตเตอรี่รถไฟฟ้าอีวี ปี’64 เพิ่มเท่าตัว รับเทรนด์ยุโรปเลิกใช้รถน้ำมันในอีก 9-14 ปี ด้าน “บางจาก” ผู้ลงทุนทำเหมืองลิเธียมหวั่นเกิดปัญหาคอขวด แต่ยังเดินหน้าโครงการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมต่อ เหมือนกลุ่มบ้านปู สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าชี้ราคาขึ้นตามกลไกตลาด ไม่กระทบตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาแร่ลิเธียมซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม เพื่อใช้กับแหล่งพลังงานในรถไฟฟ้า (EV) ปัจจุบันมีราคาพุ่งสูงขึ้นมาจนอยู่ที่ระดับ 17,000-18,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากเดิมที่มีราคาอยู่ที่ 8,000-9,000 เหรียญ/ตัน โดยราคาแร่ลิเธียมที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากการผลักดันให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ในปี 2030 ในขณะที่สหภาพยุโรปตั้งเป้าที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2035

“CNN ได้สัมภาษณ์ CEO ค่ายรถยนต์ทั้งเบนซ์ บีเอ็มดับบลิว โฟคสวาเก้น ในงานแฟรงก์เฟิร์ตมอเตอร์โชว์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทุกคนมองว่า อียูจะไม่ให้ผลิตรถน้ำมันแล้วในปี 2035 และปี 2030 รถยนต์ที่ผลิตออกมาต้องเป็น EV ครึ่งหนึ่ง ซึ่งผมเทียบข้อมูลแล้วว่า แต่ละปีโลกเราผลิตรถยนต์ 80-90 ล้านคัน ปีก่อนมีโควิด-19 มีการผลิตลดลงมาที่ 80 ล้านคัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 2 ล้านคัน และกว่า 70% ของรถยนต์ไฟฟ้ามาจากการผลิตโดยประเทศจีน ทั้งโลกคาดว่าปริมาณการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 ล้านคันในปีนี้ แค่นี้วันนี้ราคาแร่ลิเธียมก็พุ่งกระฉูดชนเพดานแล้ว ดังนั้นถ้าเราจะผลิตรถ EV 20 ล้านคัน พวกแมตทีเรียลแบตเตอรี่จะกลายเป็นคอขวดเพราะ เหมืองลิเธียมกว่าจะเปิดได้ต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี” นายชัยวัฒน์กล่าว

นอกจากนี้การลงทุนพัฒนารถ EV ยังต้องคำนึงถึง ecosystem รวมถึง โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีเพียงพอหรือไม่ ซึ่งในประเทศไทยขณะนี้ยังมีจำนวนไม่ถึง 1,000 จุด “มันจะตอบโจทย์ได้อย่างไร”

ก่อนหน้านี้บางจากได้ลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ลิเธียมที่ ประเทศอาร์เจนตินา ผ่านทางบริษัท BCP Innovation Pte.Ltd หรือ BCPI โดยเข้าไปถือหุ้นใน Lithium Americas Corp หรือ LAC จำนวน 70 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.1 ซึ่งเดิมเหมืองแห่งนี้จะมีกำหนดจะผลิตได้ปลายปี 2563 ทั้งโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ EV และ ตัวสถานีชาร์จ แต่เหมืองลิเธียมที่ลงทุนล่าช้าไปจากแผน 6 เดือน จากผลกระทบของโควิด-19 ดังนั้นคาดว่าเหมืองจะผลิตแร่ได้ 6,000 ตันประมาณกลางปี 2565 เบื้องต้นบางจากได้วางแผนจะใช้ลิเธียมในโรงงานแบตเตอรี่ แต่ระหว่างที่โรงงานยังไม่เสร็จก็จะปรับไปเป็นเทรดดิ้งก่อน เมื่อไรที่โรงงานเสร็จลิเธียมจำนวน 6,000 ตัน ก็จะถูกนำมาใช้ในโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมของบางจากทันที

“ตัวโรงงานแบตเตอรี่ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับพาร์ตเนอร์ยุโรปประมาณ 3-4 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ เรายังไม่มุ่งทุ่มไปที่เทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะอย่างที่ทราบแม้ว่าจะเป็นลิเธียมไอออนเองก็มีซับเซตอยู่ในนั้นเป็น 10 แบบ ซึ่งหากได้ข้อสรุปว่าจะใช้ลิเธียมก็จะเป็นแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะ (โมบิลิตี้)” นายชัยวัฒน์กล่าว

อย่างไรก็ตามในขณะนี้มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยใช้ “วานาเดียม” ซึ่งมีการลงทุนเทคโนโลยีนี้ผ่าน บริษัท BCPG ภายใต้ชื่อโครงการดีด็อกโฟว์ โดยวานาเดียมที่ใช้จะเป็นบายโปรดักต์ของสารเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการกลั่น แบตเตอรี่ระบบนี้จะใช้ “น้ำ” ซึ่งจะเป็นคนละแบบกับ “ลิเธียม” ระบบนี้มีความเหมาะสำหรับใช้เป็นแบตเตอรี่ใน stationary หรือโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน “ในส่วนนี้พันธมิตรของบางจากไปลงทุนกับสตาร์ตอัพ เรามีสิทธิที่จะร่วมกับพันธมิตรตั้งโรงงานในไทย”

บ้านปู-GPSC ไปต่อ

ขณะที่นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บ้านปูมีโครงการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ EV โดยร่วมลงทุนในบริษัทดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (Durapower Holdings) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบลิเธียมไอออน (LiB) สำหรับรถยนต์และระบบไฟฟ้าสำรองต่าง ๆ ในสัดส่วนร้อยละ 47.7

ปัจจุบันมีโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูงตั้งอยู่ที่จีนที่สามารถรองรับแผนการผลิตได้ถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) และภายในปี 2568 จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) โดยเน้นขยายตลาดในประเทศจีน ยุโรป อเมริกา และเอเชีย-แปซิฟิก “ราคาแร่ลิเธียมที่เป็นต้นทุนได้ปรับสูงขึ้นนั้น ทางบ้านปูได้วางแผนการบริหารจัดการ supply chain อย่างเหมาะสมควบคู่ไปกับการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีพลังงาน”

นอกจากนี้ยังมีบริษัทโกลบอล พาวเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในเครือ บมจ.ปตท.ที่ลงทุนโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โดยได้รับเทคโนโลยีมาจาก 24M Technologies Incorporation จากประเทศสหรัฐ

โดยนายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell รองรับกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง) ต่อปี ซึ่งในระยะแรกเน้นการผลิตและจัดจำหน่ายเซลล์แบตเตอรี่แบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) หรือลิเทียมไอรอนฟอสเฟต สำหรับการใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า และ G-Box ผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งาน สำหรับระบบสำรองไฟฟ้า (UPS) และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ที่มีขนาดตั้งแต่ 10-1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป

ส่วนโครงการพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้านั้น “ยังอยู่ระหว่างการศึกษา” การขยายตัวของตลาดประเทศในกลุ่ม Passenger EV ซึ่งตลาดกำลังมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นจากการส่งเสริมของรัฐบาลไทยนิยมใช้แบตเตอรี่ลิเธียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ หรือ NMC เพราะต้องตอบสนองต่อการวิ่งระยะไกล เบื้องต้น GPSC สามารถนำเข้าจากบริษัท อันฮุย แอคซิว่า นิว เอ็นเนอร์จี้ เทคโนโลยี จำกัด (Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (AXXIVA)) ประเทศจีน เนื่องจาก GPSC ได้เข้าไปร่วมทุนกับบริษัทดังกล่าวและเป็นเทคโนโลยีของบริษัท 24M เทคโนโลยีฯเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้เทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ของโรงงานยังสามารถปรับเปลี่ยนไลน์การผลิตจากแบบลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LFP) ไปสู่การผลิตเป็น แบตเตอรี่ลิเทียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ (NMC) ได้ในทันทีด้วย

อย่างไรก็ตามนอกเหนือจาก 2 บริษัทข้างต้นแล้วยังมีโครงการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อีก 2 โครงการ คือบริษัทอมิตา เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) ร่วมกับกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) กับบริษัทเบต้า เอ็นเนอยี่ โซลูชั่น ทั้ง 2 โครงการจะผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

ราคาลิเธียมตามกลไกตลาด

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงราคาแร่ลิเธียมที่ปรับตัวสูงขึ้นว่า “เป็นไปตามกลไกตลาดและปัญหาซัพพลายที่น้อยลงเหมือนกับชิป (เซมิคอนดักเตอร์) ขาดแคลน” เพราะหากย้อนหลังไปจะพบว่าแร่ลิเธียมมีราคาลดลงไปเกือบ 90% ด้วยซ้ำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ส่วนในภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบก็กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่มูลค่าตลาดลิเธียมทั่วโลกในปี 2021 มีมูลค่าราว 41.1 พันล้านบาท คาดว่าจะขยายตัวไปถึงกว่า 116.6 พันล้านบาท ภายในปี 2030 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 12.3% ต่อปี

“ผมเชื่อว่าราคาลิเธียมที่ปรับตัวสูงขึ้นตอนนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนในส่วนของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในประเทศไทย เท่าที่ทราบมีผู้ประกอบการที่ลงทุนเเบตเตอรี่ยังคงเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องอย่าง ปตท. ปัญหาราคาปรับตัวสูงขึ้นเป็นทั่วโลกไม่ใช่ปัญหาเฉพาะสำหรับประเทศไทย”

เช่นเดียวกับนางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการอาวุโส บริษัทไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี กล่าวว่า ราคาแบตเตอรี่น่าจะมีช่องว่างให้ขยับขึ้นอีกนิด กว่าจะส่งผ่านต้นทุนมายังผู้บริโภค แต่อนาคตนั้นแบตเตอรี่เริ่มมีการคิดค้นแร่ธาตุทดแทน หรือใช้ประสิทธิภาพแร่ที่เป็น rare earth material (ใช้แร่ในปริมาณน้อยลงแต่ใช้งานแบตเตอรี่ได้ดีและนานขึ้น) ร

วมถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ซึ่งไม่เพียงแต่เพื่อหลีกเลี่ยงราคาแร่ที่สูงขึ้น แต่รวมถึงซัพพลายที่อาจขาดแคลนในอนาคตด้วย จึงจะเห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ได้เล็งเห็นปัญหาและเตรียมแนวทางแก้ไขไว้ระยะหนึ่งแล้ว เหลือเพียงแต่ทำให้เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพถูกนำมาใช้ได้ในการผลิตแบบแมสโปรดักชั่น

“ราคาลิเธียมอาจจะส่งผลต่อโอกาสของการเกิดรถ EV ในไทยในระยะแรก ซึ่งรัฐบาลต้องมีนโยบายช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเลือกช่วยผู้ผลิตหรือผู้บริโภคก็จะทำให้ราคารถอาจไม่ได้สะท้อนต้นทุนจริงทั้งหมด ดังนั้นต้นทุนแบตเตอรี่จึงส่งผลเพียงทางอ้อม อีกทั้งในไทยเองยังไม่ได้มีการเริ่มผลิตแบตเตอรี่เองอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันต้องมีการพัฒนา ความพร้อมทางด้านอินฟราสตรักเจอร์เป็นปัจจัยหลักในการที่รถ EV จะเกิดได้หรือไม่ ในระยะแรกมากกว่าราคาของลิเธียม”