“เตี้ยนหมู่-โกนเซิน” อ่วม 19 จังหวัด กฟผ.จับตา “เขื่อนจุฬาภรณ์-ห้วยกุ่ม” ล้น

น้ำท่วมสุโขทัย

ดีเปรสชั่น “เตี้ยนหมู่-โกนเซิน” ถล่มอีสาน-กลาง 19 จังหวัด อ่วม กฟผ.จับตา 2 เขื่อน “จุฬาภรณ์-ห้วยกุ่ม’ ปริมาณน้ำสูงเกินเกณฑ์ แต่เทียบ 3 ปัจจัยยังมั่นใจไม่ซ้ำรอย ปี 54 ก.อุตสาหกรรม-นิคม เตรียมพร้อมทั้งประเทศ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น “เตี้ยนหมู่” ที่อ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ กำลังแรงเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงวันที่ 24-25 กันยายน 2564 ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำสายสำคัญในพื้นที่คือน้ำมูลเพิ่มขึ้น และพื้นที่ตอนบนแม่น้ำชีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงได้แจ้งเตือนให้เตรียมรับมือ

จากก่อนหน้านี้ที่ไทยได้รับอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นโกนเซิน ที่ส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกตั้งแต่ 11-13 กันยายน 2564 โดยขณะนี้ไทยมีพื้นที่ 19 จังหวัดประสบปัญหาอุทกภัย ประกอบด้วย พิษณุโลก ตาก สุโขทัย พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี และนครสวรรค์

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554 มีปริมาณน้ำเก็บกักอ่างน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำ 48,313 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มากกว่าปี 2563 ที่มีปริมาณ 39,560 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังสามารถรับน้ำได้อีก 27,762 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาวันที่ 27 กันยายน 2564 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาปริมาณ 11,648 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 4,952 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 27% ของความจุใช้การปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 278.16 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 10.26 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 13,223 ล้าน ลบ.ม.

รายงานข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ระบุว่า จากการติดตามประเมินสถานการณ์น้ำในขณะนี้ พื้นที่ที่ กฟผ.เฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ พื้นที่รอบเขตเขื่อนและโรงไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะในเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 168.35 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 103% สูงกว่าเกณฑ์ควบคุม (URC : upper rule curve) เล็กน้อยจึงจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านสปิลเวย์ (spillway) รวมปริมาณสะสมถึงวันที่ 27 กันยายน 64 รวม 4.71 ล้าน ลบ.ม. เพื่อพร่องน้ำไม่เกินระดับเก็บกักปกติสูงสุดเช่นเดียวกับเขื่อนห้วยกุ่มปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 19.61 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 97% สูงถึงเกณฑ์ควบคุม URC ทยอยระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 14-26 กันยายนเป็นต้นมา รวม 39.20 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 1,446.49 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 59% ยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำสูงถึงเกณฑ์ควบคุม URC ซึ่งที่ผ่านมามีการระบายน้ำตามแผนได้วันละ 5 ล้าน ลบ.ม. และในส่วนเขื่อนสิรินธรและเขื่อนปากมูลมีน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นแต่ระดับน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ทั้งนี้ กฟผ.ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์และตรวจตราเขื่อนอย่างใกล้ชิด โดยฝ่ายบำรุงรักษาโยธาได้ดำเนินการตรวจสอบเขื่อนจุฬาภรณ์และเขื่อนห้วยกุ่มยังมีความมั่นคงแข็งแรงมีความปลอดภัยในการใช้งานโดยไม่พบการทรุดตัวของเขื่อน พร้อมทั้งทดสอบอุปกรณ์เปิด-ปิดบานประตูระบายน้ำ ระบบโทรมาตรให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ

จากสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ชัยภูมิ ทาง กฟผ.เขื่อนจุฬาภรณ์ได้เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยมาตั้งแต่วันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา อาทิ มอบถุงยังชีพทั้งสิ้น 350 ถุง น้ำดื่ม “น้ำใจ กฟผ.” ไปแล้วจำนวน 4,200 ขวด สนับสนุนทรายทำพนังกั้นน้ำ 10 ลบ.ม. ถุงทราย 1,000 ถุง แก่ชุมชนที่ประสบอุทกภัย

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันกับปี 2554 มีความแตกต่างกัน เนื่องจากในปีนี้พื้นที่ได้รับผลกระทบหลักอยู่ใน “ภาคอีสาน” ส่วนพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางมีปัจจัยหลักจากปริมาณฝนที่ตกหนักในพื้นที่ใต้เขื่อนและพื้นที่ลุ่มต่ำ

และในปี 2554 เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำในเขื่อน 91% ระบายน้ำวันละประมาณ 40 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำในเขื่อน 99% ระบายน้ำวันละประมาณ 60 ล้าน ลบ.ม. แต่ในปี 2564 สถานการณ์เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ยังมีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำ 6,227.6 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 46% และเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ 4,079.45 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 43% ซึ่ง กฟผ.ได้ลดหรืองดการระบายน้ำมาตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2564 เพื่อบรรเทาสภาพน้ำท่วมและเก็บกักน้ำก่อนสิ้นฤดูฝนให้มากที่สุด

และสถานการณ์น้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา จากข้อมูลการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาล่าสุดระบายน้ำประมาณ 2,500 ล้าน ลบ.ม. แต่ที่เกิดอุทกภัยปี 2554 ระบายที่ 3,700 ล้าน ลบ.ม.

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย และเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งให้เตรียมมาตรการต่าง ๆ รองรับสถานการณ์หลังน้ำลดแล้ว ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับทีมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาต่อไป

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันขอให้เร่งขุดลอกคูคลองทางระบายน้ำ สำรวจและเสริมความมั่นคงแข็งแรงของคันดินป้องกันน้ำท่วม ทั้งยังจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมอาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจวันละ 5,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงปลายปีนี้ ทั้งนี้ ได้ประสานหอการค้าจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เพื่อร่วมหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป