ประวิตรจี้ รับมือฝนเพิ่ม เดินแผน “ต้นน้ำเก็บ กลางน้ำชะลอ ปลายน้ำระบาย”

ประวิตรกำชับทุกพื้นที่เสี่ยงรับมือน้ำหลากอีกระลอก ชี้ยังมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้อีก จากฝนตกหนักอยู่ในขณะนี้ พร้อมดีเดย์เติมน้ำต้นทุนแก้ปัญหาภัยแล้ง จ.ขอนแก่น กรมชลฯรุกบริหารน้ำภายใต้แผน “ต้นน้ำเก็บ กลางน้ำชะลอ ปลายน้ำระบาย” แก้ปัญหาลุ่มน้ำชี

วันที่ 14 ตุลาคม 2564 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ จ.ขอนแก่น โดยประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการบริหารจัดการน้ำท่วมในลุ่มน้ำชี บรรเทาความเดือดร้อนและลดผลกระทบให้กับประชาชน โดยมีกิจกรรมกดปุ่มเพิ่มความสุขสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เพื่อเติมน้ำต้นทุนแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับพื้นที่ อ.ภูเวียง และ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในลุ่มน้ำชี เนื่องจากลำน้ำชีมีสภาพคดเคี้ยว บางช่วงกว้าง บางช่วงแคบ ในช่วงฤดูน้ำหลากน้ำมักจะเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ กรมชลประทานได้วางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม ภายใต้หลักการ “ต้นน้ำเก็บ กลางน้ำชะลอ ปลายน้ำระบาย” ประกอบด้วย การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณตอนบนในเขตจังหวัดชัยภูมิ การก่อสร้างประตูระบายน้ำหรือเขื่อนระบายน้ำในลำน้ำชี การก่อสร้างแก้มลิงหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่และแก้มลิงสองฝั่งลำน้ำชี การแก้ไขปัญหาอุทกภัยภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยังลุ่มน้ำพรม-เชิญ ลุ่มน้ำเสียวใหญ่ การพัฒนาอ่างเก็บน้ำแบบอ่างพวง โครงการเหลียวหลัง การเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งการผันน้ำในลำน้ำชีหน้าเขื่อนยโสธร-ลำเซบาย-ลำเซบก-ลำห้วยตุงลุง หากสามารถดำเนินการโครงการต่าง ๆ ดังกล่าวได้ทั้งหมด จะช่วยลดทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งได้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ที่ยังมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้อีก จากฝนตกหนักอยู่ในขณะนี้ เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ รวมทั้งวางแผนเก็บน้ำสำรองไว้ในทุกแหล่งน้ำ ทั้งน้ำผิวดินและใต้ดินไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าด้วย โดยได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น  กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณากำหนดแผนบริหารจัดการน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงตลอดทั้งลำน้ำชีด้วย

ที่สำคัญได้มอบให้อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดขอนแก่น ที่มีจังหวัดขอนแก่น และ สทนช.เป็นเจ้าภาพหลัก จัดทำแผนบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในจังหวัดขอนแก่น ก่อนนำเสนอผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำชี และให้ สทนช.รวบรวมเสนอคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อพิจารณาต่อไป สำหรับโครงการที่ได้รับงบประมาณแล้ว ขอให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว