ลงทุนพลังงานทดแทนได้ไปต่อ กฤษฎีกาปลดล็อกให้เว้นผังเมืองตามเดิม

พลังงานทดแทน

กฤษฎีกาปลดล็อก พพ.ออกหนังสือรับรองเอกชนลงทุนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 2018 ให้ได้สิทธิ์ตามคำสั่ง คสช. 4/2559 ยกเว้นบังคับใช้กฎกระทรวงผังเมือง ล่าสุดไฟเขียว 4 โครงการผ่านแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณาอีก 4-5 โครงการ เอกชนมั่นใจช่วยกระตุ้นการลงทุนพลังงานหมุนเวียน ลดการปล่อยคาร์บอน ดันเศรษฐกิจฉลุย

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่กรมออกประกาศ ชะลอการรับเรื่องพิจารณารับรองโครงการภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี 2561-2580 (AEDP 2018) เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2564 เพื่อรอความชัดเจนเรื่องอำนาจ พพ. ในการพิจารณารับรองโครงการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 4/2559

ที่ว่าให้ยกเว้นกฎหมายผังเมือง ซึ่งได้ผูกกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2015) และแผน AEDP 2015 แต่ปัจจุบันประเทศได้ผ่านแผนใหม่เป็น PDP 2018 และ AEDP 2018 เมื่อปลายปี 2563

ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาและมีความเห็นว่า กรมยังคงทำหน้าที่พิจารณารับรองโครงการได้ตามเดิม ทางกรมจึงได้ให้ยกเลิกประกาศเรื่องการชะลอการรับรองโครงการ ที่ออกมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมแล้ว และได้ออกประกาศใหม่ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2564 เพื่อดำเนินการพิจารณาออกหนังสือรับรองโครงการตามปกติแล้ว ซึ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์คือเป็นโครงการที่ผลิตพลังงานทดแทนไว้ใช้เอง ไม่ใช่จำหน่ายเข้าการไฟฟ้า

“ขณะนี้ได้อนุมัติโครงการพลังงานทดแทนฯที่ยื่นค้างอยู่ไปแล้ว จำนวน 4 โครงการ และอยู่ระหว่างทยอยพิจารณาอนุมัติออกหนังสือรับรองอีก 4-5 โครงการ ซึ่งคาดว่าในสัปดาห์หน้าน่าจะเคลียร์ครบหมด ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนโครงการพลังงานทดแทนใหม่ ๆ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้เกิดการใช้พลังงานทดแทน ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ได้”

รายงานข่าวระบุว่า ตามประกาศเรื่องการพิจารณารับรองโครงการภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี 2561-2580 (AEDP 2018) ซึ่งลงนามโดยนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน วันที่ 18 ตุลาคม 2564 ระบุว่า โครงการที่จะขอรับรองจะต้องเป็นโครงการที่เข้าหลักเกณฑ์การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการบางประเภทตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้วในวันที่ 20 มกราคม 2559

และที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2559-19 มกราคม 2560 และอยู่ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี 2561-2580 (AEDP 2018) ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ 3 โครงการ ดังนี้

1) โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพื่อใช้เอง หรือจำหน่ายให้กับลูกค้าโดยตรง

2) โครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล

และ 3) โครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ตลอดจนระบบคลังที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การขนส่ง และการจำหน่าย ได้แก่ เอทานอล ไบโอดีเซล น้ำมัน ไพโรไลซิส ก๊าซไบโอมีเทนอัด และเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น

สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบรับรองโครงการจะต้องยื่นประกอบการพิจารณา นอกจากจะมีสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว ต้องมีสำเนาหนังสือแจ้งจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ว่าพื้นที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตพื้นที่ตามประกาศ

แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภทท้ายกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้ว ในวันที่ 20 มกราคม 2559 และที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 20 มกราคม 2559-19 มกราคม 2560 และระบุพิกัด พื้นที่ประกอบกิจการ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณารับรองโครงการ

รวมถึงหนังสือการตรวจสอบข้อบัญญัติท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสำเนาใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) สำหรับกรณีโครงการมีการขยายกำลังการผลิตของโรงงานเดิม และรายละเอียดของแผนงานโครงการ

ซึ่งคณะทำงานพิจารณารับรองโครงการที่อยู่ในแผน AEDP 2018 ของกรมจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ความยินยอม ทั้งนี้ กระบวนการดำเนินการ กรมจะใช้ระยะเวลาประมาณ 10 วัน นับจากได้รับเอกสารจากผู้ประกอบการครบ

ด้านแหล่งข่าวจากวงการพลังงานทดแทนกล่าวว่า หลังจากทราบข่าวจากทาง พพ. ขณะนี้โครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ที่ติดค้างอยู่นับสิบโครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท จะสามารถกลับมาดำเนินการได้แล้ว ถือว่าเป็นประโยชน์และช่วยสนับสนุนพลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตด้วย

“ผลจากการชะลอโครงการก่อนหน้านี้ ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการส่วนนี้เดือดร้อน ประมาณหลาย 10 โครงการค้างท่อ รวมประมาณ 50-100 เมกะวัตต์ได้ ส่วนใหญ่เป็นโครงการโซลาร์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 30 ล้านบาทต่อขนาด 1 เมกะวัตต์ ประเมินเป็นมูลค่าความเสียหายรวม น่าจะไม่ต่ำกว่า 150-300 ล้านบาท ซึ่งบางรายได้ลงทุนไปดำเนินการกู้เงินธนาคาร ออกแบบ และสั่งซื้อสินค้ามาเตรียมไว้แล้ว แต่เมื่อมีการให้อำนาจ พพ.กลับไปตามเดิม จะช่วยให้การลงทุนดำเนินต่อไปได้”