“บางจาก” ตั้งเป้า Net Zero ลุ้นภาษีคาร์บอนก่อนเทรด

บางจาก Net Zero

บางจากตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ “Net Zero” ในปี 2593 จ่อเริ่มซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับ 19 องค์กรพันธมิตร 6 หมื่นตัน ด้าน “สรรพสามิต” เร่งคลอดโครงสร้างภาษีคาร์บอน-ภาษีภาคขนส่ง EV คลอด ธ.ค.นี้

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนาประจำปี “Exponential Path to Net Zero” Bangchak 100x – 100 ไอเดียเพื่อโลกที่ยั่งยืน ว่า ทิศทางพลังงานไทยและทั่วโลกจะเริ่มเข้าสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดมากขึ้น ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล

โดยมีเป้าหมายในปี 2065 (2608) การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จะต้องเป็นศูนย์ ในส่วนของไทยจะเร่งศึกษาเรื่องภาษีคาร์บอน เพื่อดำเนินการตามที่ประกาศไว้ในการประชุม COP 26

โดยแนวทางเริ่มต้น ภาคเอกชนจะร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรม มุ่งพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รถพลังงานไฮโดรเจน นวัตกรรมดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างภูมิคุ้มกันต่อภาษีคาร์บอน มาตรการทางการค้า สร้างเครือข่ายตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

“ส่วนของบางจากตั้งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2030 (2573) โดยจะลดสัดส่วนรายได้จากพลังงานฟอสซิลที่มี 60% และพลังงานทดแทนจาก 40% เป็น 50 : 50 ด้วยการปรับปรุงโรงกลั่น ปลูกป่า การตั้งสถานีชาร์จ EV คาร์บอนเครดิต”

“ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งศึกษาว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ Net Zero เร็วที่สุดในปี 2593 ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรายได้ที่เป็นพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นจาก 50% ไปเป็น 70% ซึ่งจะเริ่มจากการลดในกระบวนการผลิต ล่าสุดบริษัทมีแผนจะซื้อคาร์บอนเครดิตมาทดแทนประมาณ 60,000 ตัน กับ 19 องค์กรพันธมิตรที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กันไปก่อนหน้านี้เป็นอันดับแรก”

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า มาตรการสำคัญที่ทางภาครัฐจะใช้เป็นเครื่องมือ และเร่งให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 (2593) รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เท่ากับศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 (2608) โดยการเตรียมจัดทำโครงสร้างภาษีคาร์บอน ซึ่งจะกำหนดให้มีการปล่อยคาร์บอนได้ในระดับหนึ่ง หากเกินอัตรากำหนดจะต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับรัฐบาลสิงคโปร์และญี่ปุ่น

ขณะเดียวกันจะใช้รูปแบบของการค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก (Cap and Trade) โดยกลุ่มผู้ที่ปล่อยคาร์บอนโดยเฉพาะกลุ่มพลังงานที่ถือว่าเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด สามารถซื้อจากกลุ่มที่สามารถลดคาร์บอนลงมาได้เช่นเดียวกับจีนและเยอรมนี ซึ่งการใช้รูปแบบดังกล่าวจะส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าของพลังงานทดแทนเติบโตเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างภาษีภาคการขนส่งซึ่งครอบคลุมถึงยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งปัจจุบันรถที่ใช้น้ำมันและรถประเภทไฮบริด ได้กำหนดอัตราภาษีอิงกับการปล่อย CO2 ไม่เกิน 150 g/km มีแนวโน้มที่จะปรับให้ต่ำกว่า 100 g/km หรือ 120 g/km โครงสร้างภาษีดังกล่าวคาดว่าจะประกาศได้ในเดือน ธ.ค. 2564 นี้หรือต้นปี 2565