“แพ็กเกจอีวี” ของขวัญปีใหม่ คลังแย้มว้าวกว่ารถคันแรก

รถEV

รถยนต์ไฟฟ้ามีเฮ “สุพัฒนพงษ์” มอบของขวัญปีใหม่ ประกาศแพ็กเกจส่งเสริมทั้งผู้ผลิตและคนซื้อ “คลัง” ลั่นว้าวกว่ารถคันแรก ดึงราคาอีวีใกล้เคียงรถใช้เครื่องยนต์ ยันไม่ทิ้งปิกอัพเปิดช่องส่งเสริมใส่มอเตอร์ไฟฟ้า ค่ายรถเด้งรับขึ้นไลน์ผลิต ค่ายญี่ปุ่นบ่นอุบสุญญากาศเมินซื้อรถช่วงนี้รอรถอีวี หวั่นมอเตอร์เอ็กซ์โปกร่อย

จากนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมพลังงานสะอาด และผลักดันให้ประเทศไทยมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ถึง 30% ของยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศภายในปี 2573 โดยรัฐบาลวางโรดแมปส่งเสริมจากบีโอไอ และมีคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติกระตุ้นจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งคืนภาษีหรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ

แจกของขวัญปีใหม่คนไทย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พร้อมจะประกาศแพ็กเกจส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้บริโภคชาวไทย แพ็กเกจที่จะประกาศนี้จะสนับสนุนทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิต ลูกค้าที่ซื้อรถอีวี ซึ่งการสนับสนุนของรัฐบาลครั้งนี้จะทำให้เกิดดีมานด์ตามโรดแมปที่เราวางไว้ โดยจะสามารถผลิตอีวีได้ถึง 10% ของการผลิตรถยนต์ในปี 2568 และขยายไปถึง 30% ภายใน 2030

“รัฐบาลจะก้าวไปทีละสเต็ปพร้อมเร่งรัดและสนับสนุนการลงทุน ก่อนหน้านี้มีการพูดกันว่าภาษีสรรพสามิตจะเป็น 0% ส่วนประชาชนที่ซื้ออีวีจะได้รับส่วนลดหรือคืนภาษีแบบเดียวกับการคืนภาษีโครงการรถยนต์คันแรก ขอให้อดใจรอฟังความชัดเจนภายในเดือนธันวาคมได้เป็นของขวัญปีใหม่แน่”

ว้าวกว่ารถคันแรก

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัปดาห์หน้าจะเห็นข้อสรุปชุดมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทย ทั้งในด้านโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในการผลิตและนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งมาตรการจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้ให้กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ไปศึกษาในเรื่องการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามาอย่างละเอียด

เช่น ตั้งกองทุน เพื่ออุดหนุนราคาให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าบางส่วนสูงสุด 20% ของราคาอีวี และยังมีอีกหลายอย่าง ยืนยันได้ว่าจะจูงใจมากกว่าตอนรถคันแรกที่มีการคืนเงินให้ผู้ซื้อรถสูงสุด 1 แสนบาท ทั้งนี้ แพ็กเกจดังกล่าวจะประกาศหลังงานมอเตอร์เอ็กซ์โปสิ้นสุดแล้ว

ขณะที่การสร้างความสมดุลเรื่องโครงสร้างภาษีรถยนต์ไฟฟ้า รอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา แต่ในหลักการในระยะข้างหน้าจะมีการเพิ่มภาษีรถยนต์สรรพสามิตเกือบทุกประเภททั้งรถยนต์นั่ง อีโคคาร์ ไฮบริด รวมถึงปลั๊ก-อิน ไฮบริด เพื่อให้ช่องว่างอัตราภาษีรถยนต์ต่างกัน เพื่อจูงใจในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะปัจจุบัน เช่น กลุ่มรถยนต์ไฮบริดที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะเสียภาษีสรรพสามิตเพียง 4% ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าคิดอัตราภาษีอยู่ที่ 2% ต่างกันเพียง 2%

ทั้งนี้ นโยบายการสนับสนุนให้ประเทศไทยใช้รถยนต์ไฟฟ้า ภาครัฐไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับค่ายรถฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะพยายามทำให้สมดุลมากที่สุด อย่างไรก็ดี หากจะดำเนินตามนโยบายผลักดันเรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะต้องเกิดความพร้อมของรถยนต์ทุกค่าย แต่ขณะนี้ค่ายรถยนต์ที่พร้อมที่สุดอาจจะไม่ใช่รถยนต์ค่ายญี่ปุ่นซึ่งต้องปรับตัวเพื่อสนับสนุนให้เกิดเป็นรูปธรรม

“ค่ายรถญี่ปุ่นไม่ได้ค้านกรณีนโยบายสนับสนุนภาษีรถยนต์ไฟฟ้า เป็นเพราะเขาเองยังไม่มีความพร้อมมากพอเมื่อเทียบกับค่ายรถในประเทศอื่น เช่น ยุโรป หรือจีน ซึ่งทางกรมสรรพสามิตต้องไปสร้างความสมดุลของอุตสาหกรรมในทุก ๆ ค่ายรถยนต์ไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบกัน เพราะถ้าค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นรู้สึกว่าไม่สะดวกในการมาลงทุนในบ้านเราก็อาจจะมีการย้ายฐานการผลิต ซึ่งเขาก็อยู่กับเรามานาน ไม่อยากเป็นเช่นนั้น” แหล่งข่าวกล่าว

ขุนคลังย้ำราคาใกล้รถสันดาป

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้บอร์ดอีวีได้เข้ามาขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ซึ่งจะต้องดูอย่างรอบด้านทั้งการผลิต และแบตเตอรี่ เพื่อให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ ซึ่งมีความคืบหน้าตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงการคลังจะใช้ภาษีสรรพสามิตเข้าไปช่วยหนุน โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ขณะเดียวกันยังต้องเข้าไปดูเรื่องกลไกราคา เนื่องจากราคารถไฟฟ้าที่ยังมีราคาสูงอาจไม่จูงใจให้คนหันมาใช้ จึงต้องทำให้กลไกราคาใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันหรือรถยนต์สันดาป ส่วนสถานีชาร์จไฟฟ้านั้นอาจต้องใช้กลไกของแบงก์รัฐในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยถูกเข้าไปสนับสนุนให้มีการลงทุนมากขึ้น เพื่อให้มีสถานีชาร์จกระจายทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

“เราจะเข้าไปดูว่าจะเข้าไปสนับสนุนส่วนไหนที่จะทำให้ราคาลดลงไปได้ ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะกองทุน กำลังพิจารณาในบอร์ดอีวี โดยขณะนี้บอร์ดมีแนวทางที่อยากให้ราคาใกล้เคียงรถสันดาปมากที่สุด” นายอาคมกล่าว

เล็งส่งเสริมกระบะอีวี

นายอาคมกล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องการส่งเสริมรถปิกอัพ โปรดักต์แชมเปี้ยนตัวแรกให้เป็นปิกอัพอีวีด้วย เพราะไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถประเภทนี้ ซึ่งนอกจากส่งเสริมการผลิตเพื่อขายในประเทศ ยังต้องส่งเสริมให้มีการส่งออกควบคู่กันไปด้วย ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานราชการนำร่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ด้วยการจัดเช่าจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้แทนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่ไทยได้ไปประกาศเจตนารมณ์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในเวที COP26 ที่ผ่านมา

ค่ายรถเด้งรับพร้อมขึ้นไลน์ผลิต

นายโรลันด์ โฟลเกอร์ ประธาน บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดอีวีในประเทศไทยปัจจุบันมีผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยหลากหลายรุ่น แต่สำหรับเมอร์เซเดส-เบนซ์ยืนยันว่า ในปี 2565 จะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยราวไตรมาสที่ 4 ปี 2565

โดยในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ พร้อมเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ซับแบรนด์เมอร์เซเดส-อีคิว เป็น EQS 400+ นำเข้ามาจากเยอรมนีมาจำหน่ายก่อน และเมื่อมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย บริษัทก็พร้อมเดินหน้าประกอบรถรุ่นนี้ทันที

ปัจจุบันโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี สตอเรจ แมนนูแฟ็กเจอริ่ง (ทีอีเอสเอ็ม) ได้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริด โดยในเร็ว ๆ นี้จะผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า คือ แบตเตอรี่รุ่น EB 40x ขนาดความจุ 107.8 kWh รองรับการใช้งานได้ 770 กม. ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง มีน้ำหนักตัว 670 กิโลกรัม

เช่นเดียวกับ นายอเล็กซานเดอร์ บารากา ประธาน บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการมองโอกาสและศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขึ้นไลน์ประกอบ แต่ต้องหารือร่วมกับภาครัฐเพื่อดูความเป็นไปได้ในการผลิต ขณะนี้ยานยนต์ยุคใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว หลังจากมีการเปิดตัวบีเอ็มดับเบิลยู iX และรถยนต์ไฟฟ้า iX3 ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์ด้านยานยนต์ไฟฟ้าในระดับพรีเมี่ยมของบีเอ็มดับเบิลยู และส่งเสริมการวางรากฐาน e-Mobility ของบริษัทในประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ บริษัทได้เปิดให้จองรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นผ่านทางออนไลน์ ปรากฏว่ารถได้ถูกจองไปจนหมดโควตาแล้ว สำหรับ iX3 ที่นำเข้ามาจากจีน ใช้เวลาเพียง 26 ชั่วโมง ถูกจองหมดโควตา 100 คัน เช่นเดียวกับ iX ที่นำเข้าจากเยอรมนีมีเพียง 22 คัน ก็หมดเช่นเดียวกันภายใน 6 นาที ขณะที่มินิ อี ที่เปิดก็ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม

“ตอนนี้ตลาดรถยนต์ที่มีการจองผ่านช่องทางออนไลน์จะถือเป็นเรื่องปกติ เพียงเเต่จะต้องเป็นรถที่ความพิเศษ บีเอ็มฯเชื่อว่าเทรนด์ความต้องการของรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และบีเอ็มฯจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาด BEV ได้ในอนาคต” ตอนนี้ได้พยายามเพิ่มสถานีชาร์จอีวีนาวด์ ร่วมกับพันธมิตรให้มากขึ้นจาก 123 หัวจ่ายกับ 46 แห่งทั่วประเทศ

ขณะที่นายคริส เวลส์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอลโว่คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวทางการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของวอลโว่ชัดเจน ปี 2019 วอลโว่ขายรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าและจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของอีวีในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2565 วอลโว่จะแนะนำรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอีก 1 รุ่น คือ C40

“เรามียอดขายเพิ่มขึ้นหลังจากปีนี้ได้แนะนำรถยนต์ไฟฟ้า CX40 ออกสู่ตลาด ลูกค้าให้การตอบรับล้นหลาม มียอดจองเข้ามาค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากปัญหาโควิดกระทบซัพพลาย ทำให้เราส่งมอบรถให้กับลูกค้าล่าช้า”

นายคริสย้ำว่า นโยบายเรื่องอีวีของรัฐบาลไทยต้องเป็นผู้นำ โดยเฉพาะการขยายสถานีชาร์จส่วนใหญ่เป็นการลงทุนและขับเคลื่อนโดยเอกชนมากกว่าภาครัฐ หากต้องการให้เกิดการใช้งานที่แพร่หลาย รัฐบาลเองต้องรักษาบาลานซ์ตรงนี้ให้ได้ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าและเกิดการใช้งานได้สะดวก ยิ่งมีสิทธิพิเศษพวกสถานีชาร์จ ที่จอดพิเศษเพื่อให้ลูกค้าเกิดความสะดวก บางพื้นที่มีที่จอดรถซูเปอร์คาร์ แต่ทำไมไม่มีที่จอดอีวีบ้าง

ค่ายจีน-เกรย์มาร์เก็ตจัดเต็ม

นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส ประธานบีอาร์จี กรุ๊ป เปิดเผยว่า เทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น บริษัทจึงได้ตอบสนองความต้องการลูกค้า โดยจัดตั้งบริษัทใหม่ “ป๊อคโค่” ไทยแลนด์ เพื่อทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ป๊อคโค่ POCCO โดยเฉพาะ

ป๊อคโค่ ผลิตโดย POCCO AUTO ภายใต้ Yogomo Group พร้อมอวดโฉมในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ต้นเดือนธันวาคมนี้ มีด้วยกัน 2 รุ่น เป็นซิตี้คาร์ POCCO รุ่น MM รถยนต์ไฟฟ้าแบบ 3 ประตู และ POCCO รุ่น DD รถยนต์ไฟฟ้าแบบ 5 ประตู ใช้แบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออน 9.2 KWH-14.5 KWH สามารถวิ่งได้ไกลสูงสุด 116-178 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เปิดตัวในราคาเริ่มต้น 389,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ส่วนค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์ หลังเปิดขายโอร่า กู๊ดแคต ได้การตอบรับที่ดีมาก และมีกระแสข่าวว่าจะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าอีก 1 รุ่น ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป คือ โอร่า แบล็กแคต ล่าสุดมีความชัดเจนแล้ว เป็น ฮาวาล เอช6 ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และที่เพิ่งประกาศราคาไปล่าสุด ฮาวาล โจไลอ้อน ไฮบริด ขายเริ่มต้น 8.79-9.99 แสนบาท

ค่ายญี่ปุ่นห่วงสุญญากาศ

แหล่งข่าวค่ายรถยนต์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระแสรัฐบาลจะประกาศแพ็กเกจรถยนต์ไฟฟ้า โดยคืนภาษีผู้ซื้อแบบรถยนต์คันแรกในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้ช่วงนี้ยอดขายรถยนต์ดรอปลงไปพอสมควร เพราะคนซื้อรถส่วนใหญ่รอเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า ยิ่งช่วงหลังราคารถอีวีจากจีนมาแรง แถมจับต้องง่ายขึ้น ผู้บริโภคก็เลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ประกอบกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นมีเพียงนิสสัน ลีฟ รายเดียวเท่านั้น นอกนั้นเป็นไฮบริด อาทิโตโยต้าและฮอนด้า ส่วนมิตซูบิชิก็เลือกไปปลั๊ก-อิน ไฮบริด

“ตอนนี้ค่ายรถญี่ปุ่นถล่มแคมเปญกันอย่างหนัก ทั้งเพิ่มออปชั่นกดราคาขายต่ำลง แต่คนก็ยังลังเล เป็นห่วงว่างานมอเตอร์เอ็กซ์โป ซึ่งจะมีขึ้นช่วงต้นเดือนธันวาคม จะมีแต่คนไปดูรถ แต่ไม่ตัดสินใจซื้อ รอรถยนต์ไฟฟ้า”

ตรวจสอบราคารถยนต์ EV สูงสุดทะลุ 6 ล้าน ต่ำสุดเฉียด 4 แสนบาท
.
ค่ายรถยุโรป ญี่ปุ่น จีน พาเหรดนำรถยนต์ EV…

โพสต์โดย Prachachat – ประชาชาติ เมื่อ วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2021