ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบยืดระยะเวลาการปรับลดกำลังผลิตจนถึงสิ้นปี 61

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขานรับกับการยืดระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตของทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกออกไปจากเดิมที่สิ้นเดือน มี.ค. 61 เป็นจนถึงสิ้นปี 2561 เพื่อที่จะให้มีปริมาณน้ำมันดิบล้นตลาดลดน้อยลง รวมทั้งเพื่อให้สามารถรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดิบไว้ได้ ตามข้อตกลงกลุ่มผู้ผลิตยังคงจำกัดกำลังการผลิตน้ำมันดิบไว้ที่ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และอนุญาติให้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบสามารถยกเลิกการปรับลดกำลังการผลิตได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนดถ้าตลาดเกิดภาวะตึงตัวขึ้น

– รัสเซียยังคงมีความกังวลต่อการขยายการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไป จะส่งผลให้สหรัฐฯ มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) เพิ่มมากขึ้น

– Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ ณ วันที่ 1 ธ.ค. 60 ปรับเพิ่มขึ้น 2 แท่น มาอยู่ที่ 749 แท่น ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์ติดต่อกัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นเกือบแตะระดับสูงสุงตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนของปี 2558

– กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 58 เป็นต้นมา

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีอุปสงค์จากทางตะวันออกกลางและเอเซียเพิ่มมากขึ้น

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น และราคาน้ำมันดีเซลยังคงไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่จะส่งออกไปภูมิภาคอื่นได้

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 56 – 61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 61 – 66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

-การขยายระยะเวลาของข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกออกไปอีก 9 เดือนจนถึงสิ้นปี 2561 จากเดิมที่สิ้นสุดในเดือน มี.ค. 61 ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบของโอเปกทั้ง 12 ประเทศและผู้ผลิตนอกโอเปกทั้ง 10 ประเทศจะปรับเพิ่มขึ้นในกรอบจำกัด หลังปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD Oil Stocks) ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าระดับเฉลี่ย 5 ปี ที่ราว 140 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตของไนจีเรียและลิเบียจะถูกจำกัดอยู่ที่ 1.8 และ 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ โดยกลุ่มผู้ผลิตจะทบทวนข้อตกลงดังกล่าวอีกครั้งในการประชุมโอเปกในเดือน มิ.ย. 61

-ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จากแคนาดาคาดจะปรับลดลงต่อเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินของท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone ซึ่งมีกำลังการขนส่งอยู่ที่ 590,000 บาร์เรลต่อวัน หลังพบน้ำมันดิบรั่วและคาดจะใช้ระยะเวลากว่า 3-4 สัปดาห์ก่อนจะกลับมาดำเนินการได้เต็มกำลังการขนส่ง ประกอบกับโรงกลั่นที่คงกำลังการผลิตในระดับสูงต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 พ.ย. ปรับลดลง 3.4 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ 453.71 ล้านบาร์เรล

-จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ หลังราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นมาสู่ระดับ 747 แท่น เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่เพียง 474 แท่น โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 9.68 ล้านบาร์เรลต่อวันและคาดจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอยู่ที่ระดับ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนหน้า ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มมากขึ้น