สุดอั้นอาหารกระป๋องจ่อขึ้นราคา พาณิชย์รีดเอดีทุบซ้ำต้นทุนเหล็กพุ่ง 100%

กระป๋อง

ผู้ผลิตอาหารกระป๋องอั้นไม่ไหว จ่อปรับราคา 5-10% หลัง “พาณิชย์” เคาะรีดเอดีเหล็กแผ่นทินเพลต-ทินฟรี ทะลุ 30% มีผล เม.ย. 65 โรงงานวอนรัฐทบทวนมาตรการหวั่นทุบซ้ำ แฉ 2 ผู้ผลิตขึ้นราคาเหล็กทุกไตรมาสทะลุ 100% ไปแล้ว แถมผลิตไม่พอใช้อีก

ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ในฐานะเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้คณะกรรมการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เป็นประธาน ได้มีมติออกประกาศผลการไต่สวนการทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าเหล็กสำหรับผลิตกระป๋อง คือ เหล็กแผ่นชุบหรือเคลือบด้วยดีบุก ทั้งชนิดที่เป็นม้วนและไม่เป็นม้วน (ทินเพลต) จากจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหภาพยุโรป

และเหล็กแผ่นชุบหรือเคลือบด้วยโครเมียมทั้งชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน (ทินฟรี) ที่นำเข้าจากจีน เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรปแล้ว ในอัตราตั้งแต่ 0-30% ของราคาซีไอเอฟเป็นเวลา 5 ปี นับจากเดือนเมษายน 2565

“ทางเอกชนขอให้ภาครัฐพิจารณายกเลิกการใช้มาตรการเอดีไปก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ว่าไม่มีเอดี แต่ราคาเหล็กก็ปรับขึ้นต่อเนื่องทุกไตรมาส ไตรมาสละ 12-13% รวมแล้วปรับขึ้นไป 100% ไปแล้ว และที่สำคัญผู้ผลิตในประเทศ 2 รายที่เป็นผู้ร้องให้เรียกเก็บเอดีเป็นผู้ผลิตญี่ปุ่นในประเทศไทย และมีกำลังการผลิตประมาณ 3.9-4.2 แสนตันต่อปี หรือ 65-70% ของความต้องการใช้ในประเทศ ซึ่งไม่เพียงพอใช้ เท่ากับว่าไม่ว่าจะมีเอดีหรือไม่ ผู้ใช้เหล็กก็ยังต้องนำเข้าอยู่ดี”

“แม้ว่า ทตอ.จะชะลอการใช้มาตรการนี้ประมาณ 6 เดือนจากเดือนพฤศจิกายน 2564 ไปถึงเมษายน 2565 แล้วก็ตาม แต่มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตอาหารกระป๋องทั้งปลากระป๋อง ผักและผลไม้กระป๋องเป็นอย่างมาก เพราะต้นทุนกระป๋องคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 35-40% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และนอกจากปัจจัยนี้แล้ว ผู้ผลิตยังมีต้นทุนค่าเฟรตเรือปรับสูงขึ้น 5-10% ต้นทุนการเฝ้าระวังและป้องกันโควิดในโรงงาน หรือแฟกตอรี่ควอรันทีน การจัดหาวัคซีนเพิ่มมาอีก”

“ทางเราจึงอยากขอให้อย่าซ้ำเติมเอกชนด้วยเรื่องนี้เลย ขอให้ช่วยชะลอเพื่อประคองให้ธุรกิจต่อไปได้ เพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศจากการส่งออกปีละหลายแสนล้าน และจะไม่กระทบต่อเอกชนและการจ้างงาน รวมถึงการรับซื้อผลผลิตเกษตรกร หากต้นทุนทั้งหมดปรับขึ้นทางผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปที่ใช้กระป๋องจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าอย่างน้อย 5-10%”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นายธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าภายใน เพื่อแจ้งถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการอาหารจากการขึ้นราคาแผ่นเหล็กทินแพลตและทินฟรีที่ใช้ผลิตกระป๋องอย่างต่อเนื่อง ของ บจก.สยามแผ่นเหล็กวิลาส (STP) และ บจก.แผ่นเหล็กวิลาสไทย (TTP)

นับตั้งแต่ไตรมาส 1/2563 ไปจนถึงไตรมาส 1/2565 รวมมูลค่า 31,600-37,800 บาทต่อตัน หรือ 93-112% (ตามตาราง) ส่งผลให้สมาคมบรรจุภัณฑ์โลหะไทย ปรับขึ้นราคากระป๋องรวม 54-63% โดยต้นทุนกระป๋องคิดเป็น 20-50% ของต้นทุนอาหารกระป๋อง

โดยสมาคมขอให้กรมการค้าต่างประเทศในฐานะฝ่ายเลขานุการ ทตอ. พิจารณยกเลิกการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดทั้งทินเพลตและทินฟรี เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และไม่สนับสนุนให้มีผู้มีอำนาจเหนือตลาด

และขอให้กรมการค้าภายในพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการค้า และทำให้กระจ่างในข้อสงสัยว่ามีการทำกำไรเกินควร พร้อมทั้งขอให้พิจารณาอนุญาตให้ผู้ประกอบการปรับราคาจำหน่ายอาหารกระป๋องในประเทศ เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นสูงมาก

“ตอนนี้ผู้ผลิตปลากระป๋อง ผักและผลไม้กระป๋อง โดยเฉพาะกลุ่มสับปะรดกระป๋อง และผลิตภัณฑ์มะพร้าว ขณะนี้ถือว่าวิกฤตมาก เพราะต้นทุนสูงจนทำให้แข่งขันไม่ได้ ต้องสูญเสียตลาดส่งออกในฐานะเบอร์ 1 ของโลก ให้กับฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียไปแล้ว”

และในอนาคตหากสถานการณ์ราคากระป๋องยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นนี้​ ผู้ผลิตอาหารบรรจุกระป๋องหลาย ๆ รายต้องปรับตัวหันไปใช้แพ็กเกจจิ้งชนิดอื่นแทนกระป๋อง โดยขณะนี้ผู้ผลิตปลากระป๋องเริ่มหันไปใช้ถุง pouch แทนแล้ว