ทียูจี้รัฐรื้อค่าธรรมเนียมต่างด้าว 2หมื่น/คนสูงเกินกระทบส่งออก

ทียูวอนรัฐทบทวนค่าธรรมเนียมจ้างแรงงานต่างด้าว 2 หมื่นบาท/คน สูงเกิน กระทบขีดความสามารถแข่งขันลด

นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 โดยกำหนดเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่นายจ้างต้องจ่ายในการจ้างแรงงานต่างด้าวถึง 20,000 บาทต่อคน ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป จะส่งผลกระทบให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง เพราะต้นทุนค่าแรงสูงโดยไม่จำเป็น อุตสาหกรรมจะอ่อนแอลง ผู้ประกอบการแข่งขันไม่ไหว การส่งออกจะลดลง จะกระทบมาถึงกำลังซื้อและเศรษฐกิจภายในประเทศ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลทบทวนค่าธรรมเนียมตรงนี้ให้เหมาะสม

“วันนี้ต้องยอมรับประเทศไทยจำเป็นต้องมีแรงงานต่างด้าวมาช่วยทำงาน ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรอุตสาหกรรม ต้องการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร ต้องมีการแปรรูป นอกจากเครื่องจักรแล้วต้องใช้แรงงานคน ปัจจุบันเครือทียูมีแรงงานทั้งหมด 20,000 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายทั้งหมด 100% ประมาณ 60-70% หรือประมาณ 12,000-14,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยแรงงานระหว่างรัฐ (MOU) ประมาณ 60% และที่เหลือเป็นแรงงานต่างด้าวที่มีบัตรสีชมพู เมื่อบัตรหมดอายุลง ทางทียูจะให้แรงงานกลับไปทำเอกสารตามเงื่อนไข MOU แล้ว กลับเข้ามาทำงานกับทียูต่อ ซึ่งที่ผ่านมาทียูช่วยค่าใช้จ่ายฟรี คนละประมาณ 5,000 บาท ในการเดินทาง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านแรงงานของทียูค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ที่ผ่านมาทียูไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน”

นอกจากนี้ ทียูอยากให้รัฐบาลเร่งเรื่องขั้นตอนการทำ MOU ของแรงงานต่างด้าวให้เสร็จเร็วขึ้นภายใน 7-10 วัน โดยการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยบริหารจัดการ เพราะหากทำได้เร็วขึ้นจะลดปัญหาต่าง ๆ

ส่วนกรณีที่จะให้แรงงานต่างชาติตั้งสหภาพแรงงานได้นั้น คิดว่าจะยิ่งยุ่งกันไปใหญ่ จะมีปัญหาเรื่องความมั่นคงของประเทศ ปัญหาการบริหารจัดการภายในโรงงานจะคุมกันยากขึ้น เท่าที่ทราบตามกฎหมายปัจจุบันห้ามไม่ได้อยู่แล้วในการมีสหภาพ แต่ไม่ต้องบอกทุกบริษัทต้องมี การบริหารจัดการเรื่องแรงงานเป็นเรื่องใหญ่ เป็นภาพรวมของประเทศ ทุกประเทศมีกฎหมายแรงงาน ประเทศไทยต้องทำตามมาตรฐานสากล แต่ไม่จำเป็นต้องทำตามประเทศใดประเทศหนึ่งเหมือนกันทุกอย่าง ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการได้เหมาะสม และสอดคล้องกับสากลพอแล้ว สมมุติบริษัทหนึ่งมีคนงาน 10,000 คน แบ่งเป็น แรงงานต่างด้าว 7,000 คน หากมีสหภาพอาจเกิดการประท้วงวุ่นวาย

“คนงานต่างด้าวมาอยู่เมืองไทยวันนี้หลายล้านคน ไม่ใช่เป็นเรื่องไม่ดี เพราะแรงงานต่างด้าวนำเงินมาใช้จ่ายหมุนเวียนภายในประเทศไทย เพียงแต่รัฐบาลจะจัดการมาตรฐานอย่างไร อยากให้พิจารณาใน 3 เรื่อง คือ 1.ต้องทำตามมาตรฐานสากล 2.ต้องเหมาะสมกับประเทศไทยด้วย ภาครัฐควรหารือกับผู้ประกอบการต้องทำระดับไหนถึงจะแข่งขันได้ ไม่ต้องไปทำตามรูปแบบของต่างประเทศทั้งหมด และ 3.ผู้ประกอบการทุกคนต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งแรงงาน และนายจ้าง และอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง”