ปตท. ชูศักยภาพใหม่ธุรกิจผ่านแนวคิด NOW-NEW-BETTER

บุรณิน รัตนสมบัติ
บุรณิน รัตนสมบัติ

ปตท. ชูศักยภาพใหม่ธุรกิจ ผ่านแนวคิด NOW-NEW-BETTER พร้อมเป็นองค์กรสร้าง Eco system อุตสาหกรรมประเทศ ชี้เป็นปีแห่งโอกาสผู้นำ Life science พัฒนาดิจิทัล เทคโนโลยี ฝากรัฐบาลเร่งสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ อัพสกิลเพิ่มศักยภาพใหม่ ๆ ป้อนตลาด ปรับกฎระเบียบรองรับโลกแห่งความหลากหลาย

วันที่ 31 มกราคม 2565 นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “สู่ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่า ปี 2565 นับเป็นสถานการณ์ที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนศักยภาพเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 2 ปี เริ่มดีขึ้น แม้ว่าจะยังมีการระบาดที่รุนแรงของสายพันธุ์โอมิครอน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงกว่าปีที่ผ่านมา

อีกทั้งการเติบโตเศรษฐกิจสะท้อนจากการส่งออกของไทยในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา มีมูลค่าถึง 2.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบกับศักยภาพการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาก ยิ่งส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ดี ในช่วง 10 ปี สภาพเศรษฐกิจเติบโตอย่างทรง ๆ ตัว และดูเหมือนไม่เติบโตมากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะนำเสนอในปัจจุบันคือ ด้านเทคโนโลยีเริ่มเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นเทรนด์ในการปรับตัวในทุกภาคธุรกิจ อีกทั้งจะนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เราจะเห็นการลงทุนใหม่ ๆ ที่สามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และธุรกิจเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ตรงนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องเค้นศักยภาพคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้นด้วย

โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้มุ่งเน้นผลักดันตั้งแต่นโยบาย New S-curve ตลอดจนกำหนดนโยบายการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้น ปตท.ได้มุ่งปรับเรื่องของ Green energy จากขายน้ำมันก็ปรับไปสู่การขายไฟฟ้า EV รวมถึงไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยก็มองไปถึงเรื่องการลงทุนด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จอุตสาหกรรม ยุค 3.0 คือการผลิต ก้าวต่อไปที่จะเป็น 4.0 หากเปรียบกับรถยนต์ คีย์สำคัญแรก ๆ ไทยจะไม่ค่อยกล้าขับ แต่พอเราเริ่มคุ้นเคยเข้าใจ ก็จะขับเป็น กล้ามากขึ้น ซึ่งโควิดที่ผ่านมาหลายประเทศหยุดรอประเทศไทย ดังนั้น เวลาที่ขับไปข้างหน้าเราต้องกล้า ผมเชื่อว่าคนที่อยู่ 3.0 ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถขับไปสู่ 4.0 ได้ ควรต้องเพิ่ม Productivity ให้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี หากย้อนไป 2 ปีที่แล้วเกิดการระบาดโควิดอย่างหนักต่อเนื่องมา 2564 ทางกลุ่ม ปตท.แบ่งธุรกิจเป็น 3 ธุรกิจคือ ธุรกิจดั้งเดิม (OLD) ธุรกิจปัจจุบัน (NOW) เน้นเรื่องโลจิสติกส์ ปิโตรเคมีขั้นสูงและการแสวงหาธุรกิจใหม่ (NEW) เน้นยานยนต์ไฟฟ้า Life Science หรือธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต

ปัจจุบันปีนี้ได้เพิ่ม BETTER เข้าไป คือ ต้องดีต่อโลก ดีต่อทุกคน ปีนี้ต้องพูดว่า NOW-NEW-BETTER ซึ่งคำว่า NOW ต้องทำทันที เพราะการปรับตัวรอไม่ได้ มองไปถึงเทรนด์อนาคตข้างหน้า ธุรกิจใหม่ โดยทั้งหมดนี้เป็นที่มาของการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของกลุ่ม ปตท. ที่เรียกว่า ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต “Powering Life with Future Energy and Beyond”

โดย ปตท.ใช้เวลาพอสมควรเพื่อปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เกิดขึ้นแล้วคือธุรกิจ Life Science โดย ปตท.ตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด อนาคตเพื่อนำไปต่อยอดเป็น Bio technology สร้าง Eco system ประเทศ ปตท.จะพยายามเป็นตัวกลางสร้างให้เกิด Platfrom จากรายย่อย ๆ มาร่วมกัน โดยเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นพลังในการสร้างประเทศ ซึ่ง ปตท.จะไม่ทำคนเดียว ผู้ประกอบการ รายเล็กรายย่อย ต้องเป็น Team Thailand เพื่อช่วยกันสร้างรายได้ประเทศดีขึ้น ทุ่งยกระดับรายได้ต่อคนเพิ่มมากขึ้น

“วันนี้เทคโนโลยีไปไกลเยอะเเล้ว แต่ความยากคือดีมานด์ ซึ่งตลาดดิจิทัล 70 ล้านคนในประเทศ ถือว่านิดเดียว เพราะบนโลกดิจิทัลเป็นโลกที่ใหญ่มาก ปัญหาของไทยคือซัพพลายมีเทคโนโลยีมี แต่ความยากคือเรื่องของตลาด ที่สำคัญคือ คน จากเดิมที่พูดถึงพาร์ทเนอร์ชิพอย่างเดียว เราต้องมีโครงสร้างที่ยืดหยุ่น ไม่แข็งเกินไป ทั้งกฎ เงื่อนไขของรัฐและเอกชน เช่น เดิมกฎเกณฑ์ที่รับแรงงานนั้น ๆ เป็นคนไทยทั้งหมด อาจต้องรับต่างชาติ เพื่อรองรับโลก Divercity ที่มีความหลากหลายมากขึ้น”

นอกจากนี้ ปตท.มีนโยบายมุ่งพัฒนาธุรกิจสู่ EV โดย ปตท. จับมือกับฟ็อกซ์คอนน์  (Foxconn) ร่วมมือลงทุนเพื่อสร้างฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยใช้ความเชี่ยวชาญของฟ็อกซ์คอนน์ ทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีในการผลิตและพัฒนาแพลตฟอร์มยานยนต์ไฟฟ้า ผสานกับองค์ความรู้การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของกลุ่ม ปตท. ซึ่งจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากลมากยิ่งขึ้น

โดยล่าสุด ตั้งเป้า 700 สถานีชาร์จ อีกทั้งมี EV platfrom เพื่อรองรับโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อม ทั้งนี้ ธุรกิจหลัก ปตท.เองตั้งอยู่บนพื้นฐานพลังงานฟอสซิล ดังนั้น การทำงานต้องผ่านความร่วมมือซึ่งกันและกัน ต้องไม่ยึดติด สามารถเชื่อมภาครัฐ เอกชน มีพันธมิตร ส่วนวิธีการสร้าง Eco system นั้นเพื่อสร้าง intensive สร้างความแข็งแกร่งร่วมกัน

นายบุรณิณกล่าวอีกว่า การทำธุรกิจในช่วงแรกที่นำคนของ ปตท.ไปทำ Start up เราเองก็ต้องลองผิดลองถูก ทำไปแก้ไป ต้องสร้างทีม ตรงนี้เชื่อว่าปัญหาเบาขึ้น อย่างไรก็ตาม เข้าใจบริบทของภาครัฐที่ต้องสร้างกฎกติกา เพื่อไม่เอื้อต่อรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น 2 ปี ที่ผ่านมาภาครัฐเผชิญงบประมาณโควิดมาพอสมควรแล้ว เอกชนต้องเดินหน้าไปด้วย

ทั้งนี้ อยากฝากภาครัฐให้สนับสนุนแรงงานที่ต้องใช้ทักษะใหม่ ๆ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่คุ้นเคยดิจิตอลอยู่แล้ว อยากให้รัฐบาลใช้งบประมาณลงทุนอัพสกิลในการเพิ่มทักษะเพื่อป้อนตลาดแรงงานให้ตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ตลาดแรงงานกำลังต้องการและขาดแคลน

“ผมมองว่า อนาคต คนรุ่นใหม่ อยากทำบริษัทเล็ก ทำฟรีแลนซ์มากขึ้น ก็ขอฝากให้น้อง ๆ มองตัวตนของเรา เราต้องมองว่าเราเก่งอะไร ชอบอะไร และต่อไปคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีเพื่อนอาเซียน เพื่อนต่างประเทศ เพื่อสร้างเครือข่าย เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพราะโลกที่จะเกิดขึ้นอนาคตคือความหลากหลาย ส่วนการทำงานเด็กรุ่นใหม่ต้องเลือกงานให้สอดคล้องกับความเก่งของเรา เป็นงานที่เรารักและทำได้ดี”

ส่วนแนวคิดอื่น ๆ เวลาเราทำเรื่องใหม่ ๆ แม้จะทำได้เก่ง ดี บางทีการที่จะทำเรื่องใหม่ๆอาจจะไม่ใช่ประเทศไทยเป็นคนกำหนด ผมถือคติที่ว่า โลกเปลี่ยนเราแค่ปรับ คนเก่ง เด็กไทยหลายๆคนมีศักยภาพ เขาสามารถทำเองได้ ทำงานที่ไหนเองก็ได้ ซึ่งตรงนี้ ปตท.จะ ทำอย่างไรจะเปิดเวทีให้คนเก่งมาเจอกัน ไม่ใช่แข่งขันกันแต่เพื่อแข่งกันสร้างสรรค์ผลงาน

ทั้งนี้ ถ้าให้ระบุ นวัตกรรมตัวใหม่ ๆ ที่น่าสนใจในอนาคต มองว่า ควรเป็นเทคโนโลยีควรต้องผสมผสาน ซึ่งอนาคตจะเห็น Life science ที่เป็นต้นแบบหากสามารถถอดพิมพ์เขียวคนได้ ต่อยอดไปได้อีกหลากหลาย สามารถนำพื้นฐานที่มีไปพัฒนาเทคโนโลยี อาหาร plant based เกษตร การแพทย์ ดังนั้น ขณะนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยควรใช้จังหวะนี้เป็นเซ็นเตอร์ เป็นผู้นำ Life science