ปศุสัตว์พับแผนนำเข้าหมู ราคาตลาดปรับขึ้นอีกรอบ

ผู้เลี้ยงหมูโอดต้นทุนการผลิตแพงยกแผง “อาหารสัตว์-ค่าบริหารจัดการ-โลจิสติกส์” พิษสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำข้าวสาลีราคาพุ่ง ร้องรัฐช่วย อธิบดีกรมปศุสัตว์เผยต้นทุนเกษตรกรสูงขึ้น 10% ยังไม่มีแผนนำเข้าหมู เร่งฟื้นฟูสนับสนุนการเลี้ยงเพิ่ม ชู “ราชบุรี-เชียงราย” เป็น pig sandbox นำร่อง

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันพระที่ผ่านมา (2 มี.ค.) ภาคตะวันตก

อาทิ ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร ฯลฯ ได้ประกาศปรับราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มเพิ่มขึ้น 2 บาท จาก 84 บาทต่อ กก. เป็น 86 บาทต่อ กก.

เพราะราคาที่ประกาศไว้ต่ำกว่าภาคอื่น ๆ แต่ราคาที่ผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันตกขายจริงหน้าฟาร์มยังอยู่ที่ 78-79 บาทต่อ กก. สาเหตุที่ต้องปรับราคาเพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนการผลิตสุกรเพิ่มสูงขึ้นทุกตัว โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ คิดเป็น 70% ของในการเลี้ยง นอกจากนี้ยังมีค่าการบริหารจัดการ ค่าขนส่งโลจิสติกส์ ที่ปรับสูงขึ้น

โอดต้นทุนวัตถุดิบสูง

นายนิพัฒน์กล่าวว่า ปัญหาเรื่องต้นทุนวัตถุดิบที่สูง อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแล มิเช่นนั้นแล้ว ผู้เลี้ยงสุกรรายเล็กและรายย่อยอาจจะล้มหายออกจากอาชีพกันหมด ต่อไปคงเหลือแต่ผู้เลี้ยงรายใหญ่

ซึ่งเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เข้าไปหารือกับกรมปศุสัตว์ เรื่องแนวทางการเลี้ยงสุกร และเรื่องการนำเข้าสุกร ซึ่งเกรงว่าถ้านำเข้ามาจะกระทบต่อผู้เลี้ยงรายย่อย รายเล็ก รายกลาง ซึ่งกรมปศุสัตว์ไม่ได้รับปาก เพียงแต่แจ้งว่าถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่นำเข้า แต่ไม่ได้บอกจะไม่นำเข้า

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการผู้เลี้ยงสุกรเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาต้นทุนการผลิตของผู้เลี้ยงที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กำลังพิจารณาปรับต้นทุนการผลิตสุกร จากปัจจุบันอยู่ที่ 79.20 บาท

โดยจะปรับเพิ่มอีก 5-7% ดังนั้นจากนี้ไปการประกาศราคาขายสุกรมีชีวิตของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ คงจะค่อย ๆ ทยอยปรับขึ้นช้า ๆ แต่ไม่เกิน 100 บาทต่อ กก. เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อย รายเล็ก รายกลางอยู่ได้

โดยปัจจัยสำคัญคือ ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งผู้เลี้ยงต้องการให้ภาครัฐช่วย เช่น เรื่องภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง เรื่องอัตราส่วนการซื้อข้าวโพดภายในประเทศต่อการนำเข้าข้าวสาลี ที่ 3 : 1 และการปรับลดเรื่องการประกันราคาข้าวโพด เป็นต้น

“ตอนนี้ราคาวัตถุดิบผันผวนขึ้นรายวัน ข้าวสาลีขึ้นไป 14-15 บาท ข้าวโพดในประเทศ 12 บาทกว่า โรงงานวัตถุดิบอาหารสัตว์จะหยุดผลิต เพราะถูกควบคุมราคา พอคนเลี้ยงหมูไปซื้อก็บอกวัตถุดิบที่ต้องการหมด ของในสต๊อกไม่มี ซึ่งทั้งหมดส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเลี้ยงมาก” แหล่งข่าวกล่าว

รายงานข่าวจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติระบุว่า สภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม (สัปดาห์ที่ 9/2565) วันพระที่ 2 มีนาคม 2565 ได้มีการปรับราคาหมูหน้าฟาร์ม ภาคตะวันตก เพิ่มอีก กก.ละ 2 บาท

จากเดิม กก.ละ 84 บาท เป็น กก.ละ 86 บาท ส่วนภาคอื่น ๆ ทรงตัว เช่น ภาคตะวันออก กก.ละ 86 บาท ภาคอีสาน กก.ละ 88 บาท ภาคเหนือ กก.ละ 87 บาท และภาคใต้ 88 บาท ส่งผลให้ราคาขายส่งห้างปรับเป็น กก.ละ 137-140 บาท จากเดิม 134-140 บาท ส่วนราคาขายปลีก กก.ละ 170-176 บาท จากเดิม กก.ละ 166-176 บาท

ราคาหมูลง-ยังไม่นำเข้า

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า สถานการณ์ราคาหมูขณะนี้เป็นไปตามกลไกอุปสงค์ อุปทาน ซึ่งราคาขายมีแนวโน้มต่ำลง

ส่วนหนึ่งจากการดำเนินการเครือข่ายปฏิบัติงานเร่งตรวจสอบห้องเย็นเพื่อแก้ปัญหาหมูแพงเริ่มเห็นผลลัพธ์แล้วจากเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามล่าสุดจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครน-รัสเซียที่เกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์

เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศเป็นผู้ผลิตข้าวลาสีรายใหญ่ของโลก โดยรัสเซียผลิตข้าวสาลีอันดับ 2 และยูเครนอันดับ 10 ตอนนี้ต้นทุนเกษตรกรสูงขึ้น 10%

เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ได้หารือกับ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รับทราบสถานการณ์อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ต้นทุนที่แท้จริง เพื่อนำมาปรับการเลี้ยง

“ส่วนประเด็นการนำเข้าสุกร ขณะนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการ เพราะหากดูจากแนวโน้มราคายังเป็นราคาที่ประชาชนรับได้และมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ประกาศโรคอหิวาต์สุกร ASF ราคาแนวโน้มลดลง

แต่ตอนนี้ ณ วันนี้ สถานการณ์โลกมีผลต้นทุนวัตถุดิบการเลี้ยงที่เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้ผู้เลี้ยงอย่าฉวยโอกาสขึ้นราคา

เท่าที่คุยกับสมาคมผู้เลี้ยงก็ให้ความร่วมมือในการรักษาราคา ควบคุม และร่วมกันทำงาน ตอนนี้จึงยังไม่มีเหตุผลที่จำเป็นต้องนำเข้า และการนำเข้านั้น อธิบดีไม่ได้มีอำนาจการตัดสินใจ” นายสรวิศกล่าว

สำรวจพบผู้เลี้ยงหมูเพิ่ม

จากการสำรวจผู้เลี้ยงล่าสุดตั้งแต่ได้ประกาศโรค ASF พบว่า จำนวนผู้เลี้ยงเพิ่มขึ้น โดยฟาร์มไซซ์ M มีผู้เลี้ยงเพิ่ม 963 ราย เพิ่มขึ้น 24.97% และไซซ์ L เพิ่มขึ้น 651 ราย จากเดิมที่มี 241 ราย

และในส่วนของผู้เลี้ยงรายเล็กและรายย่อย กรมได้จัดทำแผนโครงการการส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกร โดยใช้หลัก 3S คือ scan พื้นที่ภายใต้มาตรการประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดพื้นที่นำร่อง (pig sandbox), screen คน คอก เครื่องมือ อุปกรณ์ ที่มีความพร้อมและเหมาะสม และ support อุดหนุน ช่วยเหลือด้านการจัดการเลี้ยงดู การตลาดและแหล่งทุน

ขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์ และเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกร จะเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนการจัดทำ ปรับปรุงฟาร์มภายใต้ระบบป้องกันภัยทางชีวภาพของฟาร์มเลี้ยงสุกรสู่ระบบการป้องกันโรค และการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management : GFM) โดยจะนำเเผนดังกล่าวนี้เสนอของบประมาณสภาพัฒน์ 1,401 ล้านบาท

ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ซึ่งงบประมาณนี้เป็นคนละส่วนจากที่เสนอของบฯกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ 2565 เพื่อป้องกันโรค ASF วงเงิน 2,937 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน

สำหรับแนวทางฟื้นฟูความคืบหน้าการจัดหาเพื่อทำพื้นที่ pig sandbox จะเป็นเขตพื้นที่ควบคุมพิเศษ เพื่อนำร่อง ส่งเสริม-ฟื้นฟูการผลิต และควบคุมป้องกันโรคสุกร ล่าสุดได้คัดเลือก 2 พื้นที่นำร่อง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี โดยอยู่ระหว่างรวบรวมแผนของบประมาณไปยัง สวก.

ส่วนอีกพื้นที่คือ จ.เชียงราย “ลานนา pig sandbox” กรมปศุสัตว์รับผิดชอบอนุมัติงบประมาณไปแล้ว 3 ล้านบาท ทั้ง 2 พื้นที่นี้จะเป็นโมเดลนำร่องไปยังพื้นที่อื่น ๆ จากปัจจุบันที่ได้รับการรายงานการระบาดแล้ว 23 จังหวัด เเต่เป็นจุดเล็ก ๆ ไม่ใช่ทั้งจังหวัด ไม่ขยายวงกว้าง ซึ่งขณะนี้สามารถควบคุมการระบาดได้ดี มีความเสี่ยงต่ำ และกว่า 70% สามารถกลับมาเลี้ยงใหม่ได้แล้ว

โดยการเตรียมความพร้อมกลับมาเลี้ยงใหม่ของเกษตรกรในพื้นที่นำร่อง มีหลักเกณฑ์เบื้องต้น ได้แก่ การทำลายสุกรมาแล้วมากกว่า 90 วัน ล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อคอกและจุดเสี่ยง

เป็นฟาร์มที่ได้รับการรับรอง GFM หรือ GAP ก่อนนำสุกรเข้ามาเลี้ยง 14 วัน ต้องล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ โดยเฉพาะโรงเรือนที่จะนำมาเลี้ยง หลังจากนั้นเก็บตัวอย่าง 3 ตัวอย่าง หน้า กลาง หลัง

และท้ายของโรงเรือน 2 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์ เมื่อตรวจแล้วผลเป็นลบ ควรทดลองเลี้ยงสุกรประมาณร้อยละ 10-15 ของจำนวนสุกรที่สามารถเลี้ยงได้จริงในโรงเรือน และเฝ้าระวังทางอาการ 6 สัปดาห์ หากไม่มีอาการจึงนำเข้าเลี้ยงได้เต็มจำนวน

ขณะที่ในส่วนพื้นที่ปลอดโรค ASF-Free Zone จะมีกิจกรรม และมาตรการต่าง ๆ ประกอบด้วย การขึ้นทะเบียน (คนเลี้ยง คนค้า คนฆ่า คนขน คนขาย โรงงานอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ฯลฯ)

การให้ความรู้แก่เกษตรกร การยกระดับมาตรฐานฟาร์ม GFM/GAP/ASF-Free Farm หมูหลุม อื่น ๆ ระบบ compartment ในฟาร์มสุกร มาตรการการสุ่มตรวจสอบ ตรวจโรค การกำจัดซากสัตว์

ยกระดับมาตรฐานโรงฆ่า ตัดแต่ง ห้องเย็น เขียง เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคว่าผ่านการผลิตที่ได้มาตรฐานปลอด ASF, FMD, PRRS 100% สามารถตรวจสอบย้อนกลับ มีระบบ e-Movement ควบคุมการเคลื่อนย้าย เป็นต้น